แม้เราจะเคยได้ยินข้อมูลที่ว่า “โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย” กระนั้นก็ยังมีคนพูดว่า “มีแผล อย่ากินไข่แดงนะ เดี๋ยวจะหายช้า” ซึ่งพวกเราก็อาจเกิดความสงสัยว่า “แล้วมันเกี่ยวอะไรกัน” วันนี้เรามาตีแผ่ ตีแตกและอธิบายให้เข้าใจกันจริง ๆ ครับว่า สรุปแล้วมีแผลกินโปรตีนดีหรือไม่ และไข่แดงที่ตกเป็นจำเลยเนี่ย ควรพ้นผิดได้แล้วหรือยัง ?
โปรตีนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ
สารอาหารตัวนี้ค่อนข้างมีการถกเถียงกันเยอะมากกก (ก.ไก่ล้านตัว) ความต้องการของร่างกายที่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไป จะคิดกันที่ 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัวของเรา 1 กิโลกรัม
เช่น คนที่หนัก 60 กิโลกรัม ควรกินโปรตีน 0.8 x 60 = 48 กรัม (โดยประมาณ)
ส่วนที่มักถกเถียงกันก็จะเป็นปริมาณโปรตีนสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งกล้ามเนื้อจำเป็นต้องมีการพัฒนา ฟื้นฟูและขยายขนาดปริมาณโปรตีนที่แนะนำจะเพิ่มมาที่ 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในขั้นเริ่มต้น และอาจเพิ่มได้มากกว่านี้ในบางกรณี
ซึ่งในคนที่สุขภาพดีก็คงเป็นประเด็นซักเท่าไร แต่…สำหรับคนที่เจ็บป่วย ผ่าตัดหรือต้องการการฟื้นฟูล่ะ ต้องการปริมาณโปรตีนเท่าไหร่กันแน่?
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับปริมาณโปรตีนกับสภาวะร่างกายตอนป่วยด้วย ?
ผมขอถามกลับก่อนไปต่อนะครับ ว่า “ตอนคุณป่วย นึกออกไหมว่าตัวเองกินอาหารได้ดีแค่ไหน” ยังไม่ถามถึงโปรตีนด้วยนะครับ…. เชื่อว่าคำตอบเกินครึ่งจะตอบว่า “กินอะไรไม่ลง” ทีนี้ก็ปัญหาใหญ่สิครับ เพราะการฟื้นฟู รักษาตัวของเราจำเป็นต้องใช้สารอาหารเข้าไปฆ่าเชื้อโรค, เสริมภูมิคุ้มกัน และสร้างเนื้อเยื่อครับ โดยความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในขณะที่เจ็บป่วยหลัก ๆ มักพบว่า
- • การสร้างเสริมเนื้อเยื่อ เม็ดเลือดและสิ่งต่างๆ จะชะลอลง
- • อัตราการเผาผลาญหรือใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้สารอาหารต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย
- • ความอยากอาหารจะลดลงเป็นปกติ
เห็นโศกนาฏกรรมหรือยังครับ เมื่อร่างกายอยากได้สารอาหารเพิ่ม แต่เรากลับกินอะไรไม่ลงนี่สิ เรื่องใหญ่เลย หลาย ๆ กรณีจึงพบว่า การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการผ่าตัดที่ร่างกายรู้สึกได้ถึงความสะบักสะบอมหลังผ่าตัด เราจึงกินอะไรไม่ค่อยลง และพอไม่ได้รับสารอาหาร แผลก็หายช้าไปกันใหญ่ กล่าวเทียบง่าย ๆ ว่ามีแผลมีหนอง สามารถทำให้เราเสียโปรตีนออกไปได้วันละ 100 มิลลิกรัมเลยทีเดียว แต่เราจะมาคุยกันก่อนว่าช่วงฟื้นตัว ควรได้รับโปรตีนและสารอาหารอื่น ๆ อย่างไร และควรเลือกอาหารประเภทใดบ้างครับ
โปรตีนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ….ต่อการซ่อมแซมร่างกาย
กรณีหลังผ่าตัด หรือต้องการการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ “แนะนำให้เพิ่มปริมาณการกินโปรตีนจากที่เคยกินอยู่ตามปกติ” โดยปริมาณที่แนะนำให้ได้รับต่อวันจะอยู่ที่ 1.0 – 1.25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปริมาณที่่ว่านี้ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับไตแต่อย่างใด (หากเป็นอยู่ก็ต้องมาว่ากันอีกที) และเหตุผลที่ควรได้รับปริมาณโปรตีนขนาดนี้ เพราะเพื่อทำให้แน่ใจว่า สภาพร่างกายได้รับโปรตีนเพียงพอ เพราะขณะป่วยจะมีการใช้โปรตีนมากกว่าภาวะปกติไปกับการสร้างเนื้อเยื่อ สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทำให้เกิดภาวะโปรตีนเพียงพอได้หากได้รับเพียง 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จึงแนะนำให้เพิ่มปริมาณไปที่ 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก่อนครับ
แม้โปรตีนจะเป็นสารอาหารที่ไม่ได้จำกัดหรือให้งดขณะป่วย แต่การกินในปริมาณมากเกินไปก็ไม่ได้ช่วยให้หายเร็วกว่าการได้รับโปรตีนที่เหมาะสม จะมีเพียงกรณีส่วนน้อยเท่านั้นที่จะให้ได้รับมากกว่าที่แนะนำ ซึ่งจะอยู่ในบริบทภายใต้การดูแลของทีมสหสาขาวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร ฯลฯ) เช่น ผู้ป่วยที่ประสบเหตุแผลไฟไหม้ อาจต้องได้รับโปรตีนถึง 2.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว เพราะต้องการเร่งให้สร้างผิวหนังกลับมาให้สมบูรณ์ที่สุด เป็นต้น
ดังนั้นสำหรับคนที่กินโปรตีนในปริมาณทีแนะนำสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อหรือลดไขมันอยู่แล้วก็คงไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร เพราะปริมาณโปรตีนที่ได้รับก็มากพอต่อการฟื้นตัวอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องลดปริมาณโปรตีนลง
ไข่แดง…ทำให้แผลหายช้าจริงหรือไม่ ?
เมื่อนำข้อมูลนี้ไปค้นก็ปรากฏว่า ไม่เจอครับ…
ไม่เจอคือ ไม่เจอคนพูดถึงเรื่องนี้ในเชิงว่ากินแล้วแผลจะหายช้า แต่กลายเป็นแหล่งโปรตีนที่แนะนำให้กินอีกต่างหาก !!! เอาล่ะ หนังละม้วนเลย ข้อมูลรองรับต่างๆ มากมาย ตามมาอ่านกันเลยฮะ
ไข่แดงจัดเป็นอาหารที่สารอาหารครบถ้วนมาก เพราะว่าไข่แดงเป็นแหล่งโปรตีนที่มีทั้งวิตามินบีหลากชนิด มีฟอสฟอรัส (จำเป็นต่อการสร้างพลังงานในร่างกาย ฮอร์โมนต่าง ๆ และกระดูก) มีเหล็กอยู่บ้าง ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง มีสังกะสี ซึ่งจำเป็นอย่างมากในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
การกินไข่แดงพร้อมไข่ขาวให้โปรตีนถึง 7 กรัม กรณีเราแยกไข่แดงออกเหลือแต่ไข่ขาว จะทำให้เหลือโปรตีนเพียง 3 กรัมต่อไข่ขาว 1 ฟอง อีกทั้งวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ จากข้อแรกก็ดันอยู่แต่ในไข่แดงเสียด้วยสิครับ จะทิ้งไปทำไม เสียดายยยยย
มีบางคนกล่าวถึงไขมันในไข่เป็นโอเมก้า 6 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการอักเสบ โฮ่ย…คนนี้มาเหนือ เล่นถึงกลไกทางชีวเคมีเลย ซึ่งปกติแล้วไขมันในอาหารมีหลากหลายประเภทครับ ทั้งไขมันอิ่มตัว ไม่อิ่มตัว (โอเมกา 3 , 6 และ 9) ซึ่งกรดไขมันแต่ละชนิด จะถูกนำไปใช้ในการสังเคราะห์สารเคมีที่จำเป็นต่อกระบวนการภายในร่างกาย แม้ฟังดูว่าสารอักเสบน่าจะมีผลเสีย แต่อย่าลืมนะครับว่า กระบวนการอักเสบถือเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ทุกคนต้องมี เพราะจำเป็นต่อการรับมือกับสิ่งแปลกปลอมที่อาจโจมตีร่างกาย ซึ่งการกำหนดให้สร้างต่าง ๆ นั้น ร่างกายจะจัดการเอง ซึ่งการได้รับโอเมก้า 6 ไม่มีหลักฐานว่าจะเสริมให้แผลอักเสบมากขึ้น อย่างที่คาดเดากันไปเองนะครับ มิหนำซ้ำยังมีข้อมูลว่าการได้รับไขมันไม่อิ่มตัวหลากชนิดในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้การฟื้นฟูแผลเป็นไปอย่างเหมาะสมอีกด้วยครับ
สรุปแล้ว “กินไข่เถอะครับ” แผลจะได้หายไว ๆ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน
สารอาหารอื่น ๆ เพื่อเร่งการฟื้นฟูแผล
• นอกจากกินโปรตีนให้เพียงพอแล้ว สารอาหารกลุ่มอื่น ๆ ทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุและวิตามิน ก็ควรได้รับในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อทำให้โปรตีนสามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ สารอาหารที่เน้นให้ได้
1.วิตามินซี มีบทบาทในการสร้างเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดคอลลาเจน ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของผิวหนังและอวัยวะ ควรได้รับจากการรับประทานผักและผลไม้สด2.วิตามินอี ช่วยในการลดปริมาณสารอนุมูลอิสระ ซึ่งมีผลกระทบโดยชะลอการสร้างเสริมเนื้อเยื่อและกระบวนการทางเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย สามารถได้รับจากการบริโภคอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น เมล็ดพืช (เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง) และน้ำมันพืชเกือบทุกชนิด
3.วิตามินเอ ช่วยในการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อ เพราะมีบทบาทในการทำงานของ DNA ได้รับจากอาหารส่วนใหญ่ในรูปเบต้าแคโรทีน ซึ่งพบได้ในผักและผลไม้สีส้ม เหลืองและเขียวหลาย ๆ ชนิด
4.สังกะสี มีบทบาทในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและทำให้แผลหายไวขึ้น หารับประทานได้จากเมล็ดพืชทุกชนิด ไข่ เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง (หมู วัว) หอย ผลิตภัณฑ์จากนมวัว
• การดื่มน้ำให้เพียงพอ เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ระบบการซ่อมแซมและเสริมสร้างทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ การดื่มน้ำเป็นประจำถือว่ามีบทบาทอย่างมาก อาจไม่จำเป็นต้องดื่มถึงวันละ 3 ลิตรก็ได้ แต่ให้ดื่มเป็นแก้ว ๆ ให้หมด ก่อนและหลังอาหารทุกมื้อ รวมทั้งหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งก็ได้
การฟื้นตัวของบาดแผลและเนื้อเยื่อจำเป็นต้องอาศัยหลายปัจจัยด้วยกัน นอกจากสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว การดูแลบาดแผล การพักผ่อนที่เพียงพอก็มีส่วนทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างที่ควรมากขึ้น ฉะนั้นไม่ควรมองข้ามปัจจัยเหล่านี้ครับ