บทความเก่าๆ ได้พูดถึงผลเสียของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ส่งผลเสียต่อการสร้างกล้ามเนื้อไปแล้ว บทความนี้ขอพูดถึงบุหรี่บ้างว่ามีผลอย่างไรต่อกล้ามเนื้อ
งานวิจัยนี้ได้ทำการแบ่งอาสาสมัครเป็นสองกลุ่ม
1.คนที่สูบบุหรี่ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก (20 มวนต่อวัน)
2.คนที่ไม่สูบบุหรี่
ทางผู้วิจัยก็ได้ทำการฉีด leucine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนนึงใน BCAAs ที่พบว่าสามารถกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนได้ (ลองอ่านบทความ BCAAs ย้อนดูได้ครับ)
ผลออกมาว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่ในปริมาณที่ค่อนข้างมากนั้นมีระดับการสังเคราะห์โปรตีนที่น้อยกว่า
การเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อนั้น เราต้องกินโปรตีนเพิ่มเพื่อที่จะให้ร่างกายมีทรัพยากรในการสร้างกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะเกิดตรงนั้นได้ก็ต้องมีการกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนก่อน ซึ่งการกินอาหารที่มีโปรตีนสูงจะทำให้เกิดการกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มขึ้น แต่กรณีของคนที่สูบบุหรี่ในปริมาณมากนั้นมีการสังเคราะห์โปรตีนที่ลดลงก็หมายความว่าด้วยปริมาณการกินที่เท่าๆ กัน นั้นกลุ่มที่สูบบุหรี่จะเกิดการสังเคราะห์โปรตีนที่น้อยกว่า ถึงแม้จะยังสังเคราะห์โปรตีนและสร้างกล้ามเนื้อขึ้นได้ แต่ระดับของการสร้างนั้นย่อมน้อยกว่ากรณีที่ไม่สูบบุหรี่
โดยทางผู้วิจัยได้ศึกษาต่อไปอีกว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่เยอะๆ นั้นมีปริมาณ myostatin ในระดับที่สูงกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่ง myostatin นี้เป็นปัจจัยที่ยับยั้งการสร้างกล้ามเนื้อ ดังนั้นการมีมากๆ ก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการสร้างกล้ามเนื้อ
สำหรับใครที่ชอบสูบบุหรี่ก็ยังสามารถสร้างกล้ามเนื้อได้ แต่การสร้างนั้นอยู่ในระดับที่ไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่
อ้างอิง
Petersen AM, Magkos F, Atherton P, Selby A, Smith K, Rennie MJ, et al. Smoking impairs muscle protein synthesis and increases the expression of myostatin and MAFbx in muscle. American journal of physiology Endocrinology and metabolism. 2007;293(3):E843-8.