โดยปกติแล้วทาง P4F แนะนำให้คำนวณปริมาณสารอาหาร (ซึ่งจะคำนวณไปเป็นปริมาณแคลอรี่ได้อีกที) เนื่องจากว่า
- การคำนวณสารอาหาร จะเป็นการประมาณค่าอย่างมีหลักการว่าร่างกายเราควรได้รับสารอาหารเท่าไรเพื่อที่จะลดน้ำหนักและไขมัน
- หากไม่คำนวณ แล้วเรากินสารอาหารน้อยเกินไป ช่วงแรกอาจจะลดดีแต่ต่อมาจะตันและเสี่ยงต่อระบบการเผาผลาญพัง
- หากไม่คำนวณ แล้วเรากินสารอาหารเยอะไป เราก็ลดน้ำหนักไม่ได้ซักที
- หากไม่คำนวณ ไม่นับสารอาหารที่กินเข้าไป เราไม่รู้เลยว่าปกติแล้วเรากินสารอาหารไปเท่าไร เราไม่รู้จะตัดสารอาหารยังไงให้น้อยกว่าเดิม (เนื่องจากไม่ได้นับสารอาหารที่กิน)
แต่หลายคนที่เริ่มสนใจการลดน้ำหนักและไขมันนั้นอาจจะมองว่าการมาทำเรื่องแบบนี้นั้นค่อนข้างยาก ไหนจะต้องมาเรียนรู้ว่าอาหารแต่ละอย่างให้คาร์บ, โปรตีน, และไขมันอย่างละเท่าไร จนบางคนคิดท้อไปทำให้ไม่ได้เริ่มต้นลดน้ำหนักและไขมันอย่างจริงจังเสียที
แนวทางสำหรับการลดน้ำหนักและไขมันโดยไม่คำนวณสารอาหาร, ไม่นับแคลอรี่
ข้อย้ำอีกทีว่า ทาง P4F ยังยืนยันว่า “ควร” ต้องคำนวณสารอาหารและนับสารอาหารที่กินเข้าไป แต่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ เพื่อที่จะพอเห็นผลบ้าง อนาคตจะกลับมาในแนวทางที่เรายืนยันว่าควรจะคำนวณสารอาหารก็ค่อยว่ากันทีหลัง
เทียบอาหารกับฝ่ามือในแต่ละมื้อ
- แหล่งโปรตีนขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ
- แหล่งคาร์บขนาดประมาณ 1 กำมือ
- แหล่งไขมันขนาดประมาณ 1 นิ้วโป้ง
แน่นอนว่าการกะคร่าวๆ แบบนี้ย่อมสู้การชั่งปริมาณสารอาหารไม่ได้ แต่สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นง่ายๆ การกะคร่าวๆ แบบนี้ถือว่า “ดีกว่า” การกินแบบไม่รู้อะไร
อย่างน้อยเรากินแบบนี้ 3 มื้อต่อวันแล้วพบว่าอีก 2 สัปดาห์ต่อมานั้น น้ำหนักไม่ลดลง เราก็สามารถลดปริมาณอาหารลงจากที่เคยเทียบไว้ในช่วงแรก
ลดการ “ดื่มสารอาหาร”
ทุกคนล้วนคุ้นเคยกับกรณีที่ดื่มสารอาหารประเภทคาร์บ ง่ายๆ ก็พวกน้ำอัดลม, น้ำหวาน พวกนี้มีคาร์บจากน้ำตาลเยอะ ถึงแม้ตอนดื่มจะจุกแต่ก็ไม่ได้อิ่มจริงๆ บางคนทั้งกินอาหารหลักและดื่มน้ำหวานตามไปด้วย
สำหรับกรณีที่ดื่มอาหารประเภทโปรตีนก็คล้ายๆ กัน การได้เคี้ยวเนื้อสัตว์หรือแหล่งโปรตีนเป็นชิ้นๆ นั้นค่อนข้างจะอิ่มกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับการรับโปรตีน 25 g ถ้าเป็นเวย์โปรตีนจะจะเป็นน้ำหนักผงเวย์ประมาณ 1 scoop ซึ่งหนัก 30-35 g โดยประมาณ (ขึ้นกับยี่ห้ออีกที) แต่ถ้าเป็นเนื้อไก่ก็จะเป็นเนื้อไก่ดิบ 100 g หรือถ้าเป็นไข่ทั้งฟองก็จะประมาณไข่เบอร์ศูนย์ประมาณ 3 ฟอง จากน้ำหนักของอาหารที่กินและปริมาณคร่าวๆ ทางสายตาก็จะพบว่าเวย์นั้นกินในปริมาณที่น้อยกว่า
ถ้าทำตามคำแนะนำเบื้องต้นข้างบนแล้ว สิ่งที่ได้ก็คือ “หลักยึดแบบง่ายๆ” เรามีปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันสำหรับเปรียบเทียบแล้ว หากน้ำหนักไม่ลดก็ลดปริมาณอาหารลงบ้าง ซึ่งดีกว่าการไม่มีหลักอะไรให้ยึดเลยที่ไม่สามารถควบคุมให้ปริมาณอาหารให้ใกล้เคียงกันในแต่ละวัน แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการแนวทางที่ดีและสามารถปรับเปลี่ยนแผนเพื่อให้ลดน้ำหนักและไขมันอย่างมีประสิทธิภาพก็ยังยืนยันว่าควรจะคำนวณและนับสารอาหารที่กิน เหมือนกับการเงินที่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้เรารู้ว่าเรามีรายรับเท่าไร (แคลอรี่ที่ได้รับ) มีรายจ่ายเท่าไร (แคลอรี่ที่ใช้ไป) มีเงินเหลือสะสมเท่าไร (พลังงานส่วนต่างที่ได้รับมากกว่าใช้ไปก็จะสะสมในรูปของไขมัน) เราจะได้บริหารได้ถูกกว่าเราต้องใช้พลังงานเพิ่มขนาดไหน หรือต้องลดพลังงานที่กินเท่าไร เราถึงจะดึงไขมันสะสมมาใช้