ไขมันพอกตับ คืออะไร ?

Supplement

 

ภาวะไขมันพอกตับ เป็นภาวะ “แฝง” ที่ค่อนข้างอันตราย เพราะหลายคนไม่ค่อยตระหนักถึงเนื่องด้วยจากลักษณะของภาวะนี้จะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาให้เห็นชัดเจน แต่จะพบก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแบบละเอียด เช่น การเจาะเลือดหรือทำอัลตราซาวน์ช่องท้องเท่านั้น ในบทความนี้ทาง PlanforFIT จะถือโอกาสแนะนำและอธิบายข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะนี้เพื่อให้รู้จักกันเพิ่มมากขึ้นครับ

ไขมันพอกตับมาจากไหน ?

ไขมันพอกตับ (หรือไขมันจุกตับ) คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันมากเกินไปในร่างกาย โดยปกติแล้วไขมันจะกระจายไปสะสมตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายซึ่งจะไปสะสมตรงไหนมากเป็นพิเศษนั้นก็ขึ้นกับพันธุกรรมของแต่ละคน

ภาวะไขมันพอกตับนี้ ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะอ้วน, ภาวะดื้อต่ออินซูลิน(หรือเป็นเบาหวาน), และภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ

แต่คำอธิบายถึงการเกิดภาวะไขมันพอกตับที่ดูน่าจะเป็นไปได้คือ ร่างกายของมนุษย์จะมีไขมันสะสมเป็นปกติอยู่ปริมาณหนึ่ง แต่รูปแบบการใช้ชีวิต (ทั้งการกินอาหาร, การขยับเขยื้อนร่างกาย, ตลอดจนรูปแบบการออกกำลังกายของคน) ในปัจจุบันเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน ซึ่งมักพบว่าจะเอื้อต่อการสะสมไขมันให้เพิ่มมากขึ้น หน้าที่ของไขมันสะสมมีมากมาย ได้แก่

•  เป็นแหล่งสะสมของพลังงานในรูปของไขมันสำรอง ทำหน้าที่เป็นทั้งฉนวนความร้อนให้ร่างกายและแหล่งพลังงานสำรองกรณีฉุกเฉิน เช่น อดอาหารระยะเวลานาน

•  เป็นที่สะสมของสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด เช่น วิตามินอี วิตามินดี เบต้าแคโรทีน เนื่องจากสารเหล่านี้ละลายได้ในไขมัน ร่างกายจึงมีแหล่งสำรองของสารอาหารกลุ่มนี้เก็บไว้ได้

•  หน้าที่เสมือน แต่ไม่ใช่หน้าที่หลักคือ เป็นเบาะกันกระแทกให้ร่างกาย จากการที่มีไขมันบริเวณต่าง ๆ แล้วจะช่วยลดแรงที่มากระทบกับร่างกาย ซึ่งส่งผลดีในการลดผลเสียต่ออวัยวะภายในลดลง

 

จะเห็นได้ว่าไขมันที่สะสมในพื้นที่ต่าง ๆ ของร่างกายจะมีผลต่อหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปด้วย หลัก ๆ เราจะแบ่งไขมันที่สะสมในร่างกายเป็น ไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous fat) และไขมันในช่องท้อง (Visceral fat) ซึ่งการกระจายไขมันไปสะสมในที่ต่าง ๆ กันนั้นจะถูกกำหนดด้วยพันธุกรรมและลักษณะการใช้ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์หรือบังคับได้ แต่เราสามารถประเมินความเสี่ยงและแนวโน้มได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน

 

•  ผู้ที่บริโภคน้ำตาลในปริมาณมากเป็นประจำ โดยเฉพาะน้ำตาลอิสระหรือน้ำตาลในรูปแบบน้ำตาลที่เติมเพิ่มเข้าไป (added sugar) มักพบว่าจะมีไขมันสะสมในช่องท้องสูง ทำให้มีรอบพุงที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อีกด้วย เพราะพบว่าผู้ที่มีรอบพุงมากนั้น จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเบาหวานเพิ่มขึ้น

•  ผู้ที่บริโภคไขมันจากอาหารที่มีไขมันสูงประกอบกับไม่ค่อยบริโภคผักและผลไม้ จะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งมีไขมันสะสมตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายและมักมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าคนปกติ

ไขมันพอกตับ มีทางรักษาให้หายขาดไหม?

และนี่คงเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอยากรู้ ตามหลักฐานทางการแพทย์และการรักษาในเวลานี้ ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด” แต่แนวทางการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันจะแนะนำให้ปฏิบัติและดูแลตัวเองดังต่อไปนี้

•  การพิจารณาใช้ยาให้เป็นไปตามดุลยพินิจและการรักษาของแพทย์

•  ยากลุ่มที่แพทย์อาจสั่งให้ ได้แก่ กลุ่มยารักษาเบาหวาน ยาลดไขมันในเลือด และยากลุ่มอื่น ๆ ตามอาการและความรุนแรงของโรค

•  แม้จะเป็นภาวะไขมันพอกตับ แต่ “ไม่แนะนำ” ให้เลี่ยงไม่กินไขมันเลยหรือกินอาหารไขมันต่ำ แต่ควรปรับให้บริโภคแหล่งไขมันที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งช่วยในการปรับให้ปริมาณไขมันที่บริโภคลดลงจนอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายได้

•  แหล่งไขมันที่แนะนำคือ ไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (MUFA) และไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) ซึ่งได้จากการบริโภคถั่วประเภทต่าง ๆ เต้าหู้ เนื้อปลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก เป็นต้น

• ทั้งทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ ควรแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยเพิ่มการขยับตัว และ/หรือออกกำลังกายมากขึ้น เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่า การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้ไขมันที่สะสมในร่างกายลดลง แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยออกกำลังกายอยู่แล้ว (จึงมีปัญหาไขมันสะสมมากเกินไป) จึงเป็นข้อดีอย่างมากหากสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เริ่มออกกำลังกายได้

•  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มวิตามินซีและวิตามินอี มีรายงานถึงผลบวกของการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับ แต่การพิจารณาเพื่อใช้นั้น ขอให้เป็นรายบุคคลไป จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ เภสัชกรหรือนักกำหนดอาหารเสียก่อน

ภาวะไขมันพอกตับ ไม่ใช่ภาวะที่พบกันได้ง่าย ๆ แต่เป็นภาวะที่รุนแรงพอตัวหากเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถป้องกันได้โดยป้องกันไม่ให้มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป นั่นก็คือ การเอาใจใส่การบริโภคอาหารมากขึ้น หันมาขยับเขยื้อนร่างกายให้กระฉับกระเฉง เดินให้มากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำและหมั่นทำให้เป็นนิสัยครับ

 

อ้างอิง

Tolman KG, Dalpiaz AS. Treatment of non-alcoholic fatty liver disease. Therapeutics and Clinical Risk Management. 2007;3(6):1153-1163.

(Visited 801 times, 1 visits today)

Last modified: May 8, 2019