การกินแบบจับคู่อาหาร

Nutrition, Tips and Technique

กินอาหารแบบจับคู่ ช่วยเรื่องสุขภาพได้จริงหรือไม่ ?

ความรู้เรื่องโภชนาการและอาหารมีความก้าวหน้าไปอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบจากสมัยก่อน โดยความรู้ต่าง ๆ นั้นเกิดจากการสังเกต ทบทวน ทดลองและสรุปออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เช่น

ทำไมกะลาสีเรือที่ออกเรือไปนานๆ 3-4 เดือนถึงมีภาวะเลือดออกอย่างอธิบายไม่ได้ โดยมีอาการที่เหงือกและฟันก่อน ซึ่งแพทย์ทหารเรือนามว่า James Lind ค้นพบในปีค.ศ. 1747 ว่าหากมีผักผลไม้สดเพื่อรับประทานจะสามารถแก้ไขและป้องกันอาการเหล่านี้ได้ จึงเริ่มมีการศึกษาค้นคว้าจนพบการมีอยู่ของวิตามิน C นั่นเองครับ แต่เชื่อหรือไม่ว่าท่ามกลางความรู้เหล่านั้นมีความรู้บางประเด็นที่ต้องการการพิสูจน์เพื่อให้แน่ใจได้ว่า สารเหล่านั้น อาหารเหล่านี้มีประโยชน์จริง ๆ

 

ประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือ การเลือกรับประทานอาหารควบคู่กันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งอาหารชนิดใดหากรับประทานควบคู่กันแล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องนี้ครับ

 

ทฤษฏีจับคู่อาหารนี้มีที่มาอย่างไร

ทฤษฎีการจับคู่อาหารนี้ไม่มีใครทราบที่มาแน่ชัด แต่พอจะมีหลักฐานอยู่บ้างซึ่งอธิบายโดยศาสตร์อายุรเวชของอินเดียโบราณ ข้อมูลตรงนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในชื่อของศาสตร์ของการจับคู่อาหาร หลักการคือ “อาหารบางชนิด หากรับประทานควบคู่กับอาหารอีกชนิดหนึ่ง จะสามารถจับคู่กันออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ หรืออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น การรับประทานมันฝรั่งพร้อมกับเนื้อวัว อาจทำให้ย่อยยากขึ้น เป็นต้น ซึ่งรูปแบบในการแบ่งกลุ่มเพื่อให้จับคู่อาหารนั้น บางครั้งก็แบ่งตามชนิดสารอาหาร เช่น คาร์บ แป้ง ผลไม้ ผัก โปรตีน บางครั้งแบ่งตามความเป็นกรด ด่างหรือเป็นกลาง จากหลักการข้างต้นนี้ จึงมีตัวอย่างการจับคู่อาหารที่นิยมบ่อย ๆ ดังนี้

  • – อย่ากินแป้งพร้อมกับอาหารที่เป็นกรด
  • – อย่ากินแป้งพร้อมอาหารกลุ่มโปรตีน
  • – อย่ากินโปรตีนครั้งละหลาย ๆ ชนิด
  • – ดื่มนมเฉพาะตอนท้องว่างเท่านั้น
  • – ห้ามกินไขมันร่วมกับน้ำตาล ต้องกินอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และผักควรกินแยกกับผลไม้
  • – และอื่นๆ อีกมากมาย

ความเชื่อและความเข้าใจที่แฝงอยู่ในสูตรการกินแบบจับคู่นี้จะอิงในแนวคิดที่ว่าอาหารแต่ละชนิดจะใช้เวลาในการย่อยที่แตกต่างกัน เช่น แป้งย่อยเร็วกว่าเนื้อสัตว์ ซึ่งหากกินเข้าไปพร้อมกันอาจจะทำให้การย่อยอาหารในกระเพาะนั้นผิดเพี้ยนไปและจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ในที่สุด

หรืออาจจะเป็นในแนวคิดที่ว่าอาหารต่างจำพวกกันจะใช้เอนไซม์ในการย่อยและทำงานในสภาวะที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม สุดท้ายอาหารก็จะย่อยไม่สมบูรณ์และหมักหมมในทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดย่อย ๆ อีกว่า หากกินอาหารคู่กันอย่างไม่เหมาะสมจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ และทำให้เกิดสารพิษและความผิดปกติของร่างกายได้ นี่มีทฤษฎีมากมายขนาดนี้ สรุปว่าควรเชื่อเลยหรือไม่?

 

งานวิจัยที่เกี่ยวกับ “การจับคู่อาหาร”

ทฤษฎีข้างต้น ฟังดูค่อนข้างน่าสนใจและน่าเชื่อถือ แต่ถ้าวัดกันด้วยการทดลองเพื่อหาคำตอบที่แท้จริงนั้น งานวิจัยถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะหาคำตอบที่เชื่อถือได้ สำหรับทฤษฎีการจับคู่อาหารนี้หากถามว่ามีคนวิจัยไหม?
ตอบว่า “มี” ครับ โดยงานวิจัยโดย Golay A. และคณะได้ทำการศึกษาและตีพิมพ์ ในปี 2000 เกี่ยวกับประเด็น “อาหารเพื่อลดน้ำหนัก” โดยแบ่งคนทั้งหมด 57 คนออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อรับประทานอาหารตามหลักการ “จับคู่อาหาร” และ “อาหารสมดุล” เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งวิธีการเลือกกินจะแตกต่างกัน โดยใช้ระยะเวลาศึกษา 6 สัปดาห์

 

กลุ่มแรก ได้รับพลังงานจากอาหารวันละ 1,100 kcal มีโปรตีน 25% และไขมัน 25% ของพลังงานทั้งหมด และอ้างอิงหลักการรับประทานอาหารตามหลัก “จับคู่อาหาร”

กลุ่มสอง ได้รับพลังงานจากอาหารวันละ 1,100 kcal มีโปรตีน 25% และไขมัน 31% ของพลังงานทั้งหมด และอ้างอิงหลักการรับประทานตามหลักอาหารสมดุล ไม่มีหลักการจับคู่

 

สิ้นสุดการทดลองได้ข้อสรุปว่า “มีผลต่อการลดน้ำหนักไม่แตกต่างกัน” โดยกลุ่มแรกที่กินอาหารแบบจับคู่ ลดได้ประมาณ 6.2kg และกลุ่มที่กินอาหารตามหลักสมดุลทั่วไปลดได้ 7.5kg โดยจากข้อมูลทั้งหมดในงานวิจัย ผู้ศึกษาได้ให้ข้อสรุปว่า “การกินอาหารแบบจับคู่นั้น ไม่ได้มีประโยชน์เหนือไปกว่าการกินอาหารแบบหลักการสมดุลทั่วไปตามหลักโภชนาการแต่อย่างใด” นั่นเอง (ไปอ่านกันต่อได้ที่แหล่งอ้างอิงด้านล่างครับ) อย่างนั้นแล้ว เราจะประยุกต์หลักการนี้นำไปใช้ได้จริงหรือไม่ น่าเสียดายที่ผู้วิจัยประโยชน์ของทฤษฎีค่อนข้างน้อยอยู่ครับ

 

ฟันธงสุดท้าย

การเลือกรับประทานอาหารแบบจับคู่นั้น ไม่ได้มีข้อสนับสนุนจากงานวิจัยว่า ทำแล้วจะได้ผลประโยชน์ต่อสุขภาพเหนือไปกว่าการกินอาหารอย่างปกติสมดุลแต่อย่างใด ใครอยากทำก็ทำได้หากไม่เกินกำลังของตัวเอง แต่สุดท้ายการกินอาหารอย่างสมดุล มีข้าวแป้งธัญพืชครบถ้วน เนื้อสัตว์ไม่มันมากจนเกินไป ผักและผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพกว่าการกินอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งซ้ำ ๆ แน่นอนครับ

 

 

อ้างอิง

  • • Golay A, Allaz AF, Ybarra J, Bianchi P, Saraiva S, Mensi N, Gomis R, de Tonnac N. Similar weight loss with lowenergy food combining or balanced diets. Int J Obes Relat Metab Disord. 2000 Apr;24(4):492-6.
  • • López MA, Martos FC. Iron availability: An updated review. Int J Food Sci Nutr. 2004 Dec;55(8):597-606.
  • • Brown MJ1, Ferruzzi MG, Nguyen ML, Cooper DA, Eldridge AL, Schwartz SJ, White WS. Carotenoid bioavailability is higher from salads ingested with fullfat than with fatreduced salad dressings as measured with electrochemical detection. Am J Clin Nutr. 2004 Aug;80(2):396-403.
  • • USDA Agricultured  Research  Service .(ระบบออนไลน์)
(Visited 6,257 times, 1 visits today)

Last modified: May 10, 2019