เราทราบว่าแต่ละคนนั้นมีสมรรถภาพร่างกายที่ต่างกัน และ ที่แน่นอนคือ “ชีพจรขณะพัก” (Resting Heart rate) ของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน
เราจะพบได้ว่า ชีพจรขณะพักของผู้ที่ออกกำลังกายทั่วไปที่เราพบได้นั้นบางครั้งอาจจะต่ำลงถึง 53-55ครั้งต่อนาที และ สูงได้ถึง 80-90ครั้งต่อนาที
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็น
- ความฟิตของร่างกาย
- คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- กรรมพันธุ์
- ปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย
แต่ในเมื่อการกำหนดความหนักของการออกกำลังกายส่วนใหญ่นั้นคำนวณจากค่าร้อยละชีพจรสูงสุด (% MaxHR) ซึ่งถูกคำนวณจาก
220 – อายุของผู้ฝึก
เช่นผู้ฝึก อายุ 20ปี นั้น ชีพจรสูงสุดจะอยู่ที่ 220-20 = 200ครั้ง/นาที
แต่ผู้ฝึกอายุ 20ปีไม่ได้มีชีพจรขณะพักที่เท่ากัน ดังนั้นเราจะพบว่า หากกำหนดให้ผู้ฝึกทั้งหมดที่อายุ 20ปี นั้นออกกำลังกายที่ 60% MaxHR หรือ 120ครั้ง/นาที ในทุกๆคนนั้นเราจะพบว่า ผู้ฝึกบางคน “เหนื่อยมากจนเกือบจะทนไม่ไหว”
ในขณะที่บางคนนั้น “แทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย” ดังนั้นเราจึงสันนิษฐานได้ว่า ความหนักที่ 60% MaxHR ในแต่ละคนนั้น “ไม่เท่ากัน”
อาศัยสูตรของ Karvonen ซึ่งสนับสนุนทฤษฏีของการคำนวณความหนักโดยอาศัย ชีพจรขณะพักพื้นฐานนั้นเป็นตัวแปร โดยสูตรของ Karvonen นั้นคือ
การคำนวณหาค่าความหนักของชีพจรสูงสุดซึ่งหักชีพจรขณะพักออกเพื่อให้ได้ค่าความหนักที่แท้จริงก่อน แล้วถึงจะบวกชีพจรขณะพักนั้นกลับด้วยเหตุผลที่วา ชีพจรขณะพักนั้นเป็นชีพจรพื้นฐานที่ไม่ว่าจะออกกำลังกายหรือไม่หัวใจก็จะต้องเต้นในระดับนี้อยู่แล้วนั่นเอง
สูตรของ Karvonen
%ของความหนักของ(ชีพจรสูงสุด – ชีพจรขณะพัก) + ชีพจรขณะพัก
ตัวอย่างที่ 1 ความหนัก 60% ผู้ฝึก อายุ 20ปี, ที่มีชีพจรขณะพัก 50ครั้ง/นาที เมื่อคำนวณจากสูตร maxHR จะได้ว่า MaxHR= 220-20 = 200
จากนั้นมาเข้าสูตรของ Karvonen
= 60%[(200-50]+50
= 60%[150]+50
= 90+50
= 140ครั้ง/นาที
และเมื่อเทียบกับตัวอย่างที่ 2
ตัวอย่างที่ 2 ความหนัก 60% ผู้ฝึก อายุ 20ปี ที่มีชีพจรขณะพัก 80ครั้ง/นาที เมื่อคำนวณจากสูตร maxHR จะได้ว่า MaxHR= 220-20 = 200
จากนั้นมาเข้าสูตรของ Karvonen
= 60%[200-80]+80
= 60%[120]+80
= 72+80
= 152ครั้ง/นาที
เราจะพบว่า “ในความหนักที่เท่ากันนั้น” ทั้งสองคนนั้นได้อัตราการเต้นของหัวใจเป้าหมาย ในการออกกำลังกาย “ไม่เท่ากัน”
ค่าความหนักที่ 60% | |||
ชีพจรขณะพัก | คำนวณจากอายุ | คำนวณจากชีพจรขณะพัก | |
ผู้ฝึกที่ 1 | 50 | 120 | 140 |
ผู้ฝึกที่ 2 | 80 | 120 | 152 |
ส่วนต่าง | 30 | ได้ค่าเท่ากัน | 12ครั้ง/นาที |
ข้อสังเกตคือ ถ้าอิงจากค่าการคำนวณจากอายุนั้น ผู้ที่ฝึก 2 ซึ่งชีพจรขณะพักอยู่ที่ 80ครั้ง/นาที แล้วนั้นออกกำลังกายเพิ่มชีพจรอีกเพียง 40ครั้ง/นาที ก็ได้ตามเป้าหมายที่คำนวณจากอายุแล้ว ในขณะที่ผู้ฝึกที่ 1 ชีพจรขณะพัก 50ครั้ง/นาที นั้นต้องออกกำลังกายเพิ่มอีก 70ครั้ง/นาที ถึงจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ค่าความหนักที่ 60% | |||
ชีพจรขณะพัก | คำนวณจากอายุ | ส่วนต่างที่ต้องออกกำลังกายเพิ่ม | |
ผู้ฝึกที่ 1 | 50 | 120 | 70 |
ผู้ฝึกที่ 2 | 80 | 120 | 40 |
ส่วนต่าง | 30 | – | 30 |
ในขณะที่การคำนวณจาก ชีพจรขณะพักนั้นได้ค่าของความต่างที่ใกล้เคียงมากขึ้นดังนี้
ค่าความหนักที่ 60% | |||
ชีพจรขณะพัก | คำนวณจากชีพจรขณะพัก | ส่วนต่างที่ต้องออกกำลังกายเพิ่ม | |
ผู้ฝึกที่ 1 | 50 | 140 | 90 |
ผู้ฝึกที่ 2 | 80 | 152 | 72 |
ส่วนต่าง | 30 | 12 | 18 |
ตารางแสดงการเปรียบเทียบระหว่างการคำนวณจากอายุ และ HRR
50% | 60% | 70% | 80% | 85% | ||||||||
Age | RHR | MHR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR |
20 | 60 | 200 | 100 | 130 | 120 | 144 | 140 | 158 | 160 | 172 | 170 | 179 |
20 | 70 | 200 | 100 | 135 | 120 | 148 | 140 | 161 | 160 | 174 | 170 | 180.5 |
20 | 80 | 200 | 100 | 140 | 120 | 152 | 140 | 164 | 160 | 176 | 170 | 182 |
20 | 90 | 200 | 100 | 145 | 120 | 156 | 140 | 167 | 160 | 178 | 170 | 183.5 |
ส่วนต่างระหว่าง RHR จนถึง Target HR และ HRR | 50% | 60% | 70% | 80% | 85% | |||||||
RHR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR | %Max HR | %Max HRR | ||
60 | 40 | 70 | 60 | 84 | 80 | 98 | 100 | 112 | 110 | 119 | ||
70 | 30 | 65 | 50 | 78 | 70 | 91 | 90 | 104 | 100 | 110.5 | ||
80 | 20 | 60 | 40 | 72 | 60 | 84 | 80 | 96 | 90 | 102 | ||
90 | 10 | 55 | 30 | 66 | 50 | 77 | 70 | 88 | 80 | 93.5 |
สรุป
- ในเบื้องต้น หรือ เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ ให้คำนวณ MaxHR จาก 220-อายุได้
- ถ้าพบว่าการออกกำลังกายตามเป้าหมายนั้นไม่ได้กระตุ้นร่างกาย ไม่เหนื่อย หรือ สบายเกินไป ให้คำนวณความหนักจากชีพจรขณะพัก
- ถ้าเป็นคนที่ชีพจรขณะพักเต้นเร็วเกิน 70-80ครั้ง/นาที ให้คำนวณความหนักจากชีพจรขณะพัก
- ถ้าต้องการพัฒนาสมรรถภาพหัวใจ และ/หรือ พยายามลดน้ำหนักอย่างจริงจัง ให้คำนวณจากชีพจรขณะพักจะได้ปริสิทธิภาพกว่า
- ถ้าเป็นผู้ฝึกขั้นสูง หรือ ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำให้คำนวณจากชีพจรขณะพัก