จริง ๆ แล้วประเด็นนี้ค่อนข้างคุยกันยาก จึงขอออกตัวก่อนว่าจะขอพูดในประเด็นทั่วไป และข้อมูลบางส่วนอาจถูกปรับเพื่อให้อ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้นเพื่อให้เหมาะสำหรับคนอ่านทุกคน ดังนั้นบางส่วนจึงอาจไม่อิงตามตำราทั้งหมด
จะรู้ได้ยังไงว่าไตมีปัญหา
ไต เป็นอวัยวะที่มีบทบาทในการกำจัดของเสียและน้ำในร่างกาย รวมทั้งช่วยในการควบคุมความเป็นกรด-ด่าง ความดันโลหิตของร่างกายและอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปกติแล้วไตของเราจะทำงานได้โดยไม่มีวันพัก แต่เรากลับพบว่า การใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันหลาย ๆ ปัจจัยก็ทำให้ไตเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรได้
เมื่อไตเสื่อมสภาพ “เมื่อดูจากภายนอกหรือสังเกตอาการทางร่างกาย เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว” เนื่องจากโรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่ค่อย ๆ เป็นทีละน้อยและไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด จึงทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น โดยการรายงานผลจะออกมาให้ลักษณะ eGFR (estimated glomerular filtration rate) ถ้าค่า eGFR นี้ลดลงจะแปลว่าการทำงานของไตลดลง ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 5 ระยะ
1.ขั้นที่ 1 โดยการทำงานของไตยังมากกว่า 90 ขึ้นไป โดยอาจมีโปรตีนรั่วทั้งปริมาณมากหรือน้อยในปัสสาวะก็ได้
2.ขั้นที่ 2 การทำงานของไตลดลงเหลือ 60 – 89
3.ขั้นที่ 3 การทำงานของไตลดลงเหลือ 30 – 59
4.ขั้นที่ 4 การทำงานของไตลดลงเหลือเพียง 15 – 29
5.ขั้นที่ 5 หรือไตล้มเหลว การทำงานของไตเหลือต่ำกว่า 15 มักมีอาการไม่มีปัสสาวะร่วมด้วย
เราควรป้องกันตัวเองจากพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเพื่อชะลอไม่ให้ไตแย่ลงเร็วเกินไป
ไม่ว่าจะเป็นโรคไตในระยะใด ๆ ก็ตาม การป้องกันตัวเองจากพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตก็ยังควรนำมาใช้เพื่อชะลอไม่ให้ไตแย่ลงเร็วเกินไป ก็ยังต้องการการเอาใจใส่ดูแลตัวเอง ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ แล้ว เราพบว่าปัจจัยต่อไปนี้เป็นปัจจัยที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของการเป็นโรคไตเรื้อรัง มีดังนี้
1.การได้รับโซเดียมมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน พฤติกรรมที่ได้รับโซเดียมในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูงแบบเรื้อรัง ซึ่งหากความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องก็จะเริ่มก่อปัญหาให้ไตได้ ปริมาณโซเดียมที่แนะนำคือราวๆ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
2.การดื่มน้ำน้อย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สัมพันธ์กับการเกิดโรคไตโดยตรง แต่ร่างกายมีของเสียที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งต้องอาศัยไตในการกำจัดและขับทิ้งทางปัสสาวะเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่ต้องดื่มน้ำเพื่อละลายของเสียให้ขับทิ้งทางปัสสาวะได้อย่างสะดวก เราจึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อลดภาระการทำงานของไต
3.การกินยา โดยเฉพาะยาที่กินตามคำสั่งของแพทย์นั้น ส่วนมากพบว่า “ไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับไต” การกินยาแบบนี้จะปลอดภัยและวางใจได้ในระดับนึงเพราะได้มีการคำนวณฤทธิ์ต่าง ๆ ตามหลักการทางเภสัชวิทยาไว้แล้ว (ไม่นับการกินยาหรืออาหารเสริมที่ไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริง ๆ เสียก่อน)
4.การรับประทานโปรตีนในปริมาณมากก็ไม่ได้ทำให้เป็นโรคไต (ในคนสุขภาพดี) แต่หากเริ่มมีอาการของโรคไตแล้ว จำเป็นต้องควบคุมปริมาณการกินโปรตีนเพื่อชะลอไม่ให้ไตเสื่อมลงเร็วกว่าที่ควร
แต่หากเราเป็นผู้ที่มีโรคไตเรื้อรังแล้วควรมีการปฏิบัติตัวด้านอาหารการกินอย่างไรบ้าง ? วันนี้ผมก็ขอหยิบยกบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังครับ
แนวทางการปฏิบัติตัวทั่วๆ ไปของผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง
1.ขอย้ำก่อนเลยว่า “การกินเค็ม, อาหารแบบกล่องพร้อมบริโภค, อาหารกึ่งสำเร็จรูป” มักจะมีสัดส่วนของโซเดียมสูงซึ่งจะทำให้อาการของไตแย่ลงเร็วกว่าเดิม จึงเป็นแหล่งอาหารอันดับต้น ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง
2.อาหารแปรรูป อาหารกล่องสำเร็จพร้อมอุ่น จะมีสัดส่วนของฟอสเฟตมากกว่าอาหารปรุงใหม่ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง
3.ผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง จะเริ่มมีภาวะของเสียคั่งในร่างกายมากขึ้น หากยังสามารถถ่ายปัสสาวะได้ปกติ ควรต้องเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำให้มากขึ้น (อาจเพิ่มการดื่มน้ำเฉลี่ยวันละ 300-500 มิลลิลิตร)
แนวทางการกินโปรตีนและอาหารของผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง
1.กำหนดปริมาณโปรตีนที่ได้รับต่อวัน ให้ไม่เกิน 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อสงวนการทำงานและคงสภาพของสุขภาพไตไว้ให้มากที่สุด และออกกำลังกายให้ครบถ้วนตามโปรแกรมที่วางไว้ รวมทั้งต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
2.หากเริ่มเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 3 เป็นต้นไป (การทำงานลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50) ควรจำกัดโปรตีนที่ 0.7 และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการออกกำลังกายจากการมีกล้ามเนื้อที่ใหญ่โตให้เป็นแนวทางที่เน้นไปทางสุขภาพที่ดี, แข็งแรงหรือทำให้ลีน (กล้ามเนื้อกระชับ) ก็เพียงพอ
3.เลือกแหล่งโปรตีนเป็น “แหล่งที่คุณภาพสูงและนำไปใช้ได้เกือบทั้งหมดเป็นหลัก” เพื่อให้แน่ใจว่าของเสียที่เกิดจากการกินโปรตีนสะสมน้อยที่สุด แนะนำให้เลือกไข่ขาว, เนื้อปลาและเนื้อไก่ล้วนเป็นหลัก ส่วนเนื้อแดง (หมู วัว) นมวัว นมผง ถั่ว เต้าหู้ต่างๆ เป็นแหล่งที่ควรกินแต่น้อยเพราะมีสัดส่วนของฟอสเฟตสูง ซึ่งผู้ที่เป็นไตเรื้อรังควรควบคุมปริมาณการกินฟอสเฟต
4.การใช้เวย์โปรตีน ต้องตรวจสอบส่วนประกอบจากฉลากโภชนาการทุกครั้ง ถ้ามีสัดส่วนของฟอสเฟตอยู่สูง (มากกว่า 20% ของ RDA ขึ้นไป) ควรหลีกเลี่ยงการใช้เพราะจะทำให้ได้รับฟอสเฟตมากเกินไปได้
5.ส่วนเรื่องสารอาหารกลุ่มอื่น ๆ ที่บริโภค ขอให้รับคำปรึกษาจากนักกำหนดอาหาร แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางก่อนเสมอ เพื่อปรับแผนการดูแลและการให้ข้อมูลให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
.
โรคไตเรื้อรังไม่ใช่โรคที่มีอุบัติการณ์สูง เพราะหากได้รับการดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีแล้ว โอกาสที่เกิดก็จะลดลงได้ ขอเพียงเอาใจใส่ในอาหารที่กินและการใช้ชีวิตเท่านั้น ก็จะมีโอกาสในการเกิดโรคไตเรื้อรังลดลงแล้ว