ผู้ฝึกเวทเทรนนิ่งทั่วไปโดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่ จะได้ยินเสมอๆเกี่ยวกับคำแนะนำ “โปรแกรมฝึกขั้นต้น” หรือ โปรแกรมฝึกทั่วร่าง 3วัน/สัปดาห์ โดยรูปแบบการฝึกประกอบไปด้วยการฝึกกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย 1-2ท่าฝึกต่อมัดกล้ามเนื้อ ท่าฝึกละ 3-4เซต สัปดาห์ละ 3ครั้งโดยมีเวลาพักคั่นวันเว้นวัน เช่นผู้ฝึกฝึกในวัน จ. พ. และ ศ. ของสัปดาห์โดยที่วัน อ. พฤ. ส และ อาทิตย์ นั้นเป็นวันพัก หลายครั้งที่เกิดคำถามว่า ทำไมต้องฝึกแบบนี้ และ แนวคิดของการจัดโปรแกรมฝึกเบื้องต้นแบบนี้จริงๆแล้วเกิดจากอะไร
สิ่งที่ผู้ฝึกใหม่พบบ่อย
ก่อนขึ้นต้องทำความเข้าใจพื้นฐานของผู้ฝึกที่ไม่มีประสบการณ์การฝึกด้วยน้ำหนักมาก่อน สิ่งที่พบได้บ่อยคือ
1.ทำท่าฝึกไม่ถูกต้อง
2.ออกแรงกล้ามเนื้อไม่ถูกต้องในแต่ละท่าฝึก
3.เลือกใช้นน.ที่ฝึกไม่ถูกต้อง และ ไม่สามารถใช้น้ำหนักที่มากได้ แม้จะรู้สึกว่ามีแรงยกไหว แต่ก็ไม่สามารถควบคุมนน.ที่ยกได้
4.เนื่องจากเป็นผู้ฝึกใหม่ หากเริ่มฝึกตัวคนเดียวจึงขาดทักษะในการฝึก และ การตัดสินใจเรื่องโปรแกรมฝึก
ปัญหาของผู้ฝึกใหม่ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เกิดมาจาก
ทักษะ – “ทักษะการเรียนรู้” ทั้งของผู้ฝึกและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนั้นยังไม่เกิดขึ้นในจุดแรกนี้ เช่นเดียวกันกับทุกกีฬา แม้ว่าการเวทจะมีท่าฝึกที่ตายตัว แต่การทำท่าฝึกนั้นๆก็ยังต้องใช้ “ทักษะ” เช่นเมื่อเราเล่นเสกตครั้งแรก หรือขี่จักรยานครั้งแรกๆ เราก็จะไม่สามารถควบคุมท่าทาง ทิศทางของเราเองได้เลย การฝึกด้วยนน.ก็เช่นกัน แม้ว่าเราจะทราบวิธีการฝึกอย่างถูกต้องแต่สมองและกล้ามเนื้อก็ยังจำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะอยู่ดี
ความแข็งแรง – กล้ามเนื้อที่ไม่เคยถูกฝึกหรือถูกแรงกระตุ้นด้วยนน.มาก่อน นั้นยังปรับตัวและฟื้นตัวเพื่อรองรับการฝึกต่างๆนั้นไม่ทัน ทำให้ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าเรายกไหว แต่ความล้าที่สะสมนั้นก็ไม่สามารถทำให้เรายกได้อย่างที่เราต้องการทันที ต้องใช้เวลาในการพัฒนาความแข็งแรงสักระยะเช่นกัน
ด้วยเหตุผลหลักๆข้างต้นทำให้เราพบว่า การฝึกทั่วร่าง3วัน/สัปดาห์นั้นให้ผลดีต่อผู้ฝึกเบื้องต้นในแง่ต่างๆดังนี้
1.ทักษะ การฝึกท่าเดิมทุกๆครั้ง ด้วยความถี่ที่สูงกว่าคือ 3วัน/สัปดาห์ ทำให้ผู้ฝึกเรียนรู้ท่าฝึกหลักต่างๆได้รวดเร็วกว่าการฝึกโปรแกรมที่ความถี่ตำกว่าเช่น 4วันทั่วร่าง ฝึกส่วนละ 1ครั้ง/สัปดาห์
2.ความแข็งแรง เนื่องจากผู้ฝึกใหม่นั้นไม่สามารถฝึกด้วยความหนักและความแข็งแรงสูงสุดได้เท่าผู้ฝึกที่มีประสบการณ์ ทำให้ไม่ว่าจะพยายามฝึกหนักเท่าไร กล้ามเนื้อก็ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่เท่าผู้ฝึกที่ควบคุมการฝึกได้ดี ทำให้ในความเป็นจริงการฝึกเพียง 1ครั้ง/สัปดาห์ ต่อหนึ่งส่วนกล้ามเนื้อนั้น ห่างเกินไป ในขณะที่การฝึกทั่วร่าง3ครั้ง/สัปดาห์นั้น เพิ่มความหนักให้กับโปรแกรมฝึกโดยการเพิ่มความถี่แทนที่โฟกัสที่การเพิ่มความหนัก
3.การพัฒนาของกล้ามเนื้อ พบว่าผู้ฝึกใหม่แม้จะฝึกด้วยความหนักที่น้อยกว่า ผู้ที่ฝึก 3-4ท่าท่าละ3-4เซต แต่ก็พบว่าสามารถพัฒนากล้ามเนื้อได้รวดเร็วเนื่องจากกล้ามเนื้อนั้นไม่เคยได้รับแรงต้านมาก่อนทำให้การปรับตัวในช่วงแรกนั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็วแม้จะฝึกเพียง 1-2ท่า ท่าละ 3เซต เท่านั้น
4.การพัฒนาที่เท่าเทียมกัน การฝึกทั่วร่างทำให้ผู้ฝึกได้ฝึกทุกๆส่วนนั้นในวันเดียว ทำให้มีโอกาสฝึกแต่ละมัดกล้ามเนื้อได้ความหนักเท่าๆกัน และ ในความถี่เดียวกัน ในขณะที่การแยกส่วนฝึก 3-หรือ4วันทั่วร่างนั้นผู้ฝึกอาจพบกับการจัดโปรแกรมเพื่อเน้นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยไม่จำเป็น จนทำให้อาจมีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันทั่วร่างกายได้
อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าผู้ฝึกใหม่ “ต้องเริ่มฝึกโปรแกรมทั่วร่างเท่านั้น” หากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง และสามารถควบคุมปัจจัยข้อด้อยของการฝึกแบบอื่นได้ ก็สามารถพัฒนาได้ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดจากโปรแกรมอื่นๆได้เช่นกัน