หลุมพรางของการชั่งน้ำหนัก

Supplement

 

ขึ้นชื่อว่า “ลดน้ำหนัก” ก็เลยทำให้หลายคนมักจะโฟกัสไปที่การชั่งน้ำหนักเป็นตัวชี้วัดว่าการลดน้ำหนักนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่วิธีนี้อาจจะเป็นหลุมพรางที่ทำให้คุณไขว้เขว้ก็ได้

 

น้ำหนักสามารถแกว่งได้ถึง 3 กก

 

ปริมาณอาหารที่กิน ปริมาณน้ำที่ดื่มน้ำล้วนส่งผลต่อปริมาณของน้ำในร่างกาย อย่างปริมาณของอาหารประเภทแป้ง (คาร์บ) นั้นจะส่งผลต่อระดับไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสะสมชนิดนึงในร่างกาย ตัวไกลโคเจนนี่จะดึงน้ำเข้ามา จากการทดลองพบว่าไกลโคเจน 1 ก จะดึงน้ำไว้อย่างน้อยประมาณ 3 ก ดังนั้นวันไหนที่กินคาร์บเยอะก็อาจจะทำให้ “น้ำ” ในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าอ้วนขึ้น และในทางกลับกันวันไหนที่กินคาร์บน้อยก็อาจจะทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผอมลงแต่อย่างใด

 

 

อย่าลืมว่าสิ่งที่เราอยากจะลดจริงๆ คือ “ไขมัน” เพราะไขมันส่งผลต่อรูปร่างอย่างมาก ดังนั้นการที่โฟกัสไปที่ ”น้ำหนักของน้ำ” ที่เพิ่มหรือลงอย่างเดียวนั้นมันไม่ใช่เป้าหมายหลักจริงๆ

 

วัดผลด้วยน้ำหนักอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะบอกว่าการลดน้ำหนักนั้นได้ผลหรือไม่

 

เราควรใช้หลายๆ วิธีในการติดตามผล เช่น

•  การวัดสัดส่วน อันนี้ค่อนข้างเห็นผลได้ชัดหากเห็นว่าการวัดแขน, ขา, หน้าท้องลดลงนั้นแสดงว่ามีอะไรซักอย่างในร่างกายบริเวณนั้นหายไป ถ้าเราคุมปัจจัยดีๆ ก็น่าจะเป็นไขมันที่หายไป

 

 

•  การวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย อันนี้ก็ช่วยในการติดตามได้ดีเช่นกัน แต่ระวังการวัดแบบที่ใช้กระแสไฟฟ้าเพราะการวัดแบบนี้ไม่ได้เป็นการวัดไขมันในร่างกายโดยตรง การดื่มน้ำมาก/น้อย ปริมาณเกลือที่ได้รับนั้นส่งผลต่อการวัดด้วยวิธีนี้

 

 

•  ภาพถ่ายเปรียบเทียบ ที่แนะนำการถ่ายภาพแทนการมองกระจกทุกวันนั้นก็เพราะว่าการลดน้ำหนักนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยๆ ซึ่งเมื่อเรามองดูกระจกทุกวันนั้นก็แทบจะมองไม่ออก (เพราะเห็นทุกวัน) แต่ถ้ามีการถ่ายเปรียบเทียบแต่ละช่วงเวลา (เช่นรายสัปดาห์) ก็จะเห็นความแตกต่างมากขึ้น

 

 

คนเรานั้นผอมลงเมื่อมีปริมาณไขมันลดลง รูปร่างมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นเป้าหมายจริงๆ ของการลดน้ำหนักและไขมันมากกว่า

 

จากประสบการณ์พบว่าหลายคนที่มีรูปร่างดีขึ้นนั้นก็ไม่ได้มีน้ำหนักที่ลดลงมากแต่อย่างใด นั่นเพราะสิ่งที่หายไปจริงๆ คือน้ำหนักของไขมัน (ไม่ใช่น้ำหนักของน้ำ) ซึ่งถ้าคนเหล่านี้มองผลแค่น้ำหนักอย่างเดียวก็คงล้มเลิกไปก่อนเพราะมองน้ำหนักแล้วตัดสินว่าไม่ได้ผล

 

และจากประสบการณ์ก็พบว่าคนที่รูปร่างดีขึ้นนั้นก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเริ่มลดน้ำหนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยๆ สะสมกันมา (เหมือนกับตอนที่เราเริ่มอ้วนนั้นเราก็ค่อยๆ อ้วนสะสม ไม่ใช่ตื่นมาแล้วอ้วนเลย) ซึ่งถ้าคนเหล่านี้มองว่าต้องได้ผลตั้งแต่สัปดาห์แรกก็คงล้มเลิกไปก่อน

 

ดังนั้นอยากให้ใช้หลายๆ วิธีในการวัดผลมากกว่าการชั่งน้ำหนักตัวอย่างเดียวจะได้ไม่หลงทางไปซะก่อน

 

 

 

 

 

(Visited 2,004 times, 1 visits today)

Last modified: May 8, 2019