ฮอร์โมนต่ำจะมีโอกาสล่ำได้ไหม?

294_testosterone_p

 

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนนั้นส่งเสริมร่างกายให้มีกล้ามเนื้อ ทำให้หลายคนคิดว่าหากมีฮอร์โมนตัวนี้น้อยๆ ก็จะสร้างกล้ามได้ไม่ดี และถ้ามีเทสโทสเตอโรนในร่างกายเยอะๆ ก็จะสร้างกล้ามได้ดี ทำให้คนอาจจะคิดหาอาหารเสริมต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ฮอร์โมนตัวนี้เยอะๆ หรือคิดว่าในเมื่อเทสโทสเตอโรนต่ำก็คงเพิ่มกล้ามเนื้อไม่ได้ ก็ไม่ทำอะไรเลยดีกว่า

 

ในผู้ป่วยที่มีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำก็สามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงได้

 

เป็นการศึกษาในผู้ป่วยที่มีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำ ซึ่งการที่ฮอร์โมนตัวนี้ต่ำมากจนต่ำกว่าช่วงค่าปกตินั้นทำให้คนกลุ่มนี้มีมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลง, พละกำลังลดลง, มีการสะสมไขมันมากขึ้น ลักษณะตรงนี้จะคล้ายกับคนสูงอายุที่มีระดับเทสโทสเตอโรนลดลงตามธรรมชาติ

 

เมื่อให้คนกลุ่มนี้ได้ฝึกเวทเทรนนิ่งแบบทั่วร่าง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อเวลาผ่านไป 12 สัปดาห์พบว่าคนกลุ่มนี้มีมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น มีพละกำลังมากขึ้นและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

 

นั่นหมายความว่าถึงแม้ว่าระดับเทสโทสเตอโรนของคนกลุ่มนี้จะต่ำมากๆ (ต่ำกว่าช่วงค่าปกติ) แต่ก็สามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการเวทเทรนนิ่งนี้มีประโยชน์มากไม่ว่าจะมีเทสโทสเตอโรนปกติหรือแม้กระทั่งต่ำกว่าปกติ

 

ในผู้สูงอายุที่มีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำก็ได้รับผลประโยชน์จากการเวทเทรนนิ่งได้

 

มีหลายๆ การศึกษาที่ทดลองเรื่องนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีระดับเทสโทสเตอโรนลดน้อยลงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ก็พบว่าการเวทเทรนนิ่งนั้นสามารถทำให้คนกลุ่มนี้เพิ่มมวลกล้ามเนื้อได้และได้รับผลประโยชน์ต่างๆ อย่างเช่น สุขภาพที่ดีขึ้น พละกำลังที่เพิ่มมากขึ้นและนี่ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ดีขึ้น

 

สรุป

 

ตอนนี้กลไกทีว่าทำไมผู้ชายที่มีเทสโทสเตอโรนต่ำกว่าช่วงค่าปกติยังสามารถเพิ่มกล้ามเนื้อได้นั้นยังไม่ได้ถูกค้นพบ แต่จากข้อมูลที่มีก็ชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการเวทเทรนนิ่ง และยังชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ระดับเทสโทสเตอโรนจะต่ำก็ยังสามารถเพิ่มกล้ามเนื้อและความแข็งแรงได้อยู่ดี ซึ่งสิ่งที่เพิ่มตรงนี้ส่งผลดีต่อการดำรงชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก

 

สำหรับคนที่กังวลว่าระดับเทสโทสเตอโรนต่ำนั้นจะไม่เป็นผลดี จากข้อมูลตรงนี้ที่มีฮอร์โมนต่ำกว่าช่วงค่าปกติยังสามารถได้รับผลดีและสามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ก็น่าจะทำให้หายกังวลได้บ้าง

 

สำหรับอาหารเสริมการผลิตเทสโทสเตอโรนนั้น ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีอาหารเสริมตัวไหนที่ทำการทดลองและให้ผลเพิ่มเทสโทสเตอโรนได้ หรือถึงแม้จะส่งเสริมการผลิตได้ ร่างกายก็มีกลไกและลิมิตในการสังเคราะห์อยู่จึงไม่น่าจะสามารถกระตุ้นให้สร้างจนได้เทสโทสเตอโรนสูงกว่าช่วงค่าปกติ

เมื่อบวกกับข้อมูลที่ว่าในคนที่เทสโทสเตอโรนน้อยกว่าปกติก็ยังสามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ ก็ทำให้ความจำเป็นในการใช้อาหารเสริมพวกนี้ลดลงไปอีก

 

ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะเวทเทรนนิ่งที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ถึงแม้จะไม่ได้อยากเสริมสร้างจะให้ดูล่ำกล้ามโต แต่การมีกล้ามเนื้อที่เพิ่มมากขึ้นนั้นทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องออกแรง (ซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อ) ได้ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

 

อ้างอิง

  1. D. Hanson et al., Strength training induces muscle hypertrophy and functional gains in black prostate cancer patients despite androgen deprivation therapy. J Gerontol A Biol Sci Med Sci 68, 490-498 (2013).

 

  1. D. Hanson et al., Effects of strength training on physical function: influence of power, strength, and body composition. J Strength Cond Res 23, 2627-2637 (2009).

 

  1. J. Evans, Exercise training guidelines for the elderly. Med Sci Sports Exerc 31, 12-17 (1999).
(Visited 358 times, 1 visits today)

Last modified: May 8, 2019