เวย์โปรตีน ช่วยให้หุ่นดีขึ้น/เฟิร์มขึ้นมากแค่ไหน

238_whey_p

วย์โปรตีนกับการลดน้ำหนักและไขมัน

หลายคนอาจจะได้ยินเรื่องการกินเวย์โปรตีนเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อมาบ้างแล้ว ซึ่งจากที่ทาง P4F เคยนำเสนอนั้นก็จะอ้างอิงจากงานหลายๆ งานก็พบว่าการกินเวย์โปรตีนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มกล้ามเนื้อเท่าไร แต่การกินสารอาหารให้เหมาะสม (บวกกับการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง) โดยเฉพาะในส่วนของโปรตีนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการสร้างกล้ามเนื้อก็จะทำให้มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นได้โดยไม่สนว่าจะเป็นโปรตีนจากอาหารหลักหรืออาหารเสริม

 

ในบทความนี้จะกล่าวถึงการกินเวย์เพื่อลดน้ำหนักและไขมันบ้าง

Myth: เวย์ช่วยลดน้ำหนักและไขมัน

งานวิจัยแรกที่นำมาพูดถึง เค้าพบว่ากลุ่มอาสาสมัครที่เสริมเวย์โปรตีน 50 g นั้นสามารถลดน้ำหนักได้มากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงในงานนั้นคือเป็นการเปรียบเทียบอาสาสมัครสองกลุ่ม

 

กลุ่มที่เสริมเวย์ 50 g

กลุ่มที่เสริมมัลโตเดกตริน 50 g

ถึงแม้ว่าสุทธิแล้วแคลอรี่โดยรวมจะเท่ากันก็ตาม แต่กลุ่มที่เสริมเวย์นั้นได้โปรตีนมากกว่า ในขณะที่อีกกลุ่มได้คาร์บมากกว่า โดยปกติแล้วการย่อยโปรตีนนั้นใช้พลังงานมากกว่าคาร์บ จึงไม่แปลกใจที่จะพบว่าเมื่อแคลอรี่จากโปรตีนมากขึ้น (ในขณะที่แคลอรี่รวมเท่ากัน) กลุ่มที่ได้รับโปรตีนมากกว่าก็จะใช้พลังงานในการย่อยโปรตีนมากกว่า แต่ทั้งนี้งานทดลองนี้ไม่ได้เทียบว่าเวย์ได้ผลแตกต่างจากแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างไร ดังนั้นด้วยข้อมูลตรงนี้น่าจะสรุปได้เพียงแค่ว่าการเพิ่มสัดส่วนโปรตีนขึ้นเป็นผลดีต่อการลดน้ำหนักจะเหมาะสมกว่า

 

Myth: เวย์เพิ่มการเผาผลาญ ทำให้อิ่มและอยากอาหารน้อยลง

งานต่อมาเป็นการเปรียบเทียบโดยให้อาสาสมัครดื่มเวย์, เคซีน และนมพร่องมันเนย ก่อนมื้ออาหารแล้วดูผลต่อระดับความหิวและระดับการเผาผลาญก็พบว่าถึงแม้จะได้รับเวย์หรือเคซีนหรือนมพร่องมันเนยอย่างใดอย่างนึงก็ระงับความหิวได้ไม่แตกต่างกัน แถมนมพร่องมันเนยกลับได้ผลตรงนี้มากกว่าเวย์หรือเคซีนซะอีก (แคลอรี่รวมของเครื่องดื่มแต่ละประเภทถูกปรับให้เท่ากันแล้ว) นอกจานี้ระดับการเผาผลาญก็ไม่ได้แตกต่างกัน นั่นหมายความว่าขอให้เป็นโปรตีนก็ได้ผลคล้ายๆ กัน และเวย์ไม่ได้มีผลพิเศษเพิ่มเติมแต่อย่างใด

 

ดังนั้น สิ่งถึงอยากจะให้คิดคือปริมาณสารอาหารที่เหมาะสม ด้วยข้อมูลปัจจุบันยังไม่พบว่าเวย์ได้ผลดีมากกว่าแหล่งโปรตีนอื่นๆ ปัจจุบันมีงานหลายงานที่ไม่ได้ปรับปริมาณโปรตีนให้เท่ากัน โดยที่พบว่าส่วนมากมักให้กลุ่มที่ได้รับเวย์โปรตีนได้รับปริมาณโปรตีนต่อวันมากกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งผลที่พบจึงควรสรุปได้แค่ว่าปริมาณโปรตีนที่มากขึ้นมีผลดีมากกว่า และงานเปรียบเทียบประเภทชนิดของโปรตีนว่ามีผลแตกต่างกันหรือไม่นั้นยังมีน้อยอยู่ ตอนนี้การยึดปริมาณโปรตีนเป็นสำคัญจึงเป็นข้อสรุปที่สมเหตุสมผลมากกว่า

 

อ้างอิง

1.Mojtahedi MC, Thorpe MP, Karampinos DC, Johnson CL, Layman DK, Georgiadis JG, et al. The effects of a higher protein intake during energy restriction on changes in body composition and physical function in older women. J Gerontol A Biol Sci Med Sci. 2011;66(11):1218-25.

2.Lorenzen J, Frederiksen R, Hoppe C, Hvid R, Astrup A. The effect of milk proteins on appetite regulation and diet-induced thermogenesis. Eur J Clin Nutr. 2012;66(5):622-7.

(Visited 1,000 times, 1 visits today)

Last modified: May 8, 2019