ปัจจุบันเทรนด์การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายกำลังมาแรงเป็นอย่างมาก หลายๆ คนก็มีความกังวลว่าจะได้รับสารอาหารเพียงพอจากอาหารที่บริโภคหรือไม่ จึงเลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นตัวช่วย
อีกหลายๆ คนก็มีความเชื่อที่ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการออกกำลังกายได้
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบอกว่า หลักฐานงานวิจัยที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในการเพิ่มสมรรถภาพของการออกกำลังกายได้นั้นมีจำกัด และการได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอนั้น ควรมาจากการบริโภคอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ ที่หลายๆ คนมักลืมบริโภค มากกว่าการบริโภคอาหารจำกัดชนิด เพราะจะทำให้ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารพฤกษเคมีต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มากกว่าการได้รับสารอาหารเพียงไม่กี่ชนิดจากอาหารซ้ำๆ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรพิจารณา 8 ข้อควรรู้ดังต่อไปนี้ก่อน
1.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น (โดยเฉพาะการผ่านมาตรฐาน อย.) แสดงถึง “ความปลอดภัย” ว่าปริมาณของส่วนผสมแต่ละชนิดที่อยู่ในผลิตภํณฑ์เสริมอาหาร ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ไม่ได้เป็น “คำยืนยันประสิทธิภาพ” ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ทั้งสิ้น
2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายๆ ตัวอย่าง (โดยเฉพาะตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐาน อย. หรือมีการปลอมแปลงเครื่องหมายมาตรฐาน) อาจมีการผสมสารหลายๆ อย่างที่เป็นสารต้องห้ามที่ใช้ในวงการกีฬาและออกกำลังกาย เช่น สเตียรอยด์ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
3.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมาก ผ่านการทดสอบในงานวิจัยขนาดเล็ก และคุณภาพไม่ดีนักเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการจำแนกคุณภาพงานวิจัยจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสากล (เช่น American College of Sports Medicine, National Institute of Health เป็นต้น) มีเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่ผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนทั้งในด้านของประสิทธิภาพและความปลอดภัย เช่น ครีเอทีน (Creatine)
4.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมาก ไม่ได้ผ่านการทดสอบในงานวิจัยแบบ dose-response เพื่อประเมินหา dose ที่เหมาะสมของการได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ dose ที่อาจทำให้เกิดพิษได้
5.หลายๆ ครั้ง dose ที่แนะนำในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เกิดจากการสรุปขึ้นเองจากผู้ผลิต ซึ่งอาจหรืออาจไม่สอดคล้องกับปริมาณ dose ที่ใช้ในงานวิจัย หรืออาจจะไม่ได้มีงานวิจัยใดๆ สนับสนุนเลยก็เป็นได้
6.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมาก เมื่อนำมาทดสอบในงานวิจัยที่ได้มาตรฐานคุณภาพงานวิจัย พบว่าไม่เห็นผลในการเพิ่มสมรรถภาพในการออกกำลังกาย มีเพียงบางตัวเท่านั้นที่ทดสอบแล้วเห็นผล แต่ผลที่เพิ่มขึ้นก็ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับระดับของสมรรถภาพในการออกกำลังกายทั่วไป
7.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายๆ ตัว กลับส่งผลด้านลบต่อสมรรถภาพในการออกกำลังกายและทางกีฬา
8.ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวใด ที่สามารถแทนที่โปรแกรมการออกกำลังกาย และการบริโภคอาหารที่เหมาะสมได้
Reference:
- Dunford, M., & Coleman, E. (2012). Ergogenic aids, dietary supplements and exercise. In C. Rosenbloom (Ed.), Sports nutrition: A practice manual for professionals (5th ed.). Chicago: Academy of Nutrition and Dietetics.
- Maughan, R.J., Greenhaff, P.L., & Hespel, P. (2011). Dietary supplements for athletes: emerging trends and recurring themes. Journal of Sports Sciences, 29(Suppl. 1), S57–S66.
- Temple, N.J. (2010). The marketing of dietary supplements in North America: the emperor is (almost) naked. Journal of Alternative and Complementary Medicine,16(7), 803–806.