เวลาตรวจสุขภาพประจำปีแต่ละครั้ง ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดมักเป็นประเด็นที่ถูกใครหลายคนมองว่าเป็น “ตัวชี้วัดทางสุขภาพ” และได้รับความสนใจกันมาก เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ใหม่ๆ แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับคอเลสเตอรอลกับโอกาสการเกิดโรคหัวใจ แต่ที่จริงแล้วคอเลสเตอรอลในเลือดไม่ได้เป็นผู้ร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจกันเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจ แต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดนั้นดูเลวร้ายไปโดยปริยาย ข้อเท็จจริงที่ควรรู้เกี่ยวกับไขมันในเลือดและโรคหัวใจมีหลายประเด็น ดังนี้
คอเลสเตอรอลในเลือดมีหลายประเภท
“นี่เห็นได้ยินว่าไปเจาะเลือดตรวจสุขภาพมา ไขมันเท่าไหร่ล่ะ?”
“เกิน 200 มานิดเดียวเอง”
“ไม่เกิน 200 นะ”
จริงๆ การตอบว่ามีไขมันเกินหรือไม่เกินตัวเลข 200 เฉยๆ ถือเป็นข้อมูลที่หยาบมาก (ไม่ใช่หยาบคายเพราะถามไขมันในเลือด แต่หมายถึงบอกรายละเอียดได้น้อย) ความเป็นจริงคือ เราต้องพิจารณาระดับของคอเลสเตอรอลในเลือดแต่ละตัวด้วยว่า มีค่าสูงหรือต่ำที่ตัวไหนเพราะคอเลสเตอรอลในเลือดที่ตรวจกันนั้น สามารถแบ่งสมาชิกออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
- Triglyceride (ไตรกลีเซอไรด์) มีค่าปกติไม่เกิน 150 เมื่ออดอาหารไปเจาะเลือดตรวจ โดยปกติแล้วจะขึ้นสูงภายหลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมัน หากยิ่งกินมากก็ยิ่งพบสูงมาก และจะกลับสู่ระดับปกติได้ภายใน 6-12 ชั่วโมงขึ้นกับสภาพร่างกายแต่ละคน
- HDL ไม่มีค่าปกติ มีแต่ค่าขั้นต่ำที่แนะนำ คือ เพศชายควรมีมากกว่า 40 ขึ้นไปและ เพศหญิงควรมีมากกว่า 50 ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
- LDL มีค่าที่แนะนำคือ ไม่ควรมีสูงกว่า 130 เพราะค่าที่สูงกว่านี้ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น
ส่วนค่าคอเลสเตอรอลได้ยินกันบ่อยๆ นั้น เกิดจากการนำสมาชิกทั้งสามตัว มาคำนวณรวมกันนั่นเอง (ดูแผนภาพเพื่อเข้าใจง่ายขึ้น)
LDL เป็น “พาหนะ” ในการขนส่งสารคอเลสเตอรอลภายในร่างกาย
คอเลสเตอรอลในอาหาร พบได้มากในไข่แดง เครื่องในสัตว์ (ไส้ ตับ กระเพาะ ไต สมอง ฯลฯ) อาหารทะเลจำพวกกุ้ง หอย ปลาหมึกและปู ซึ่งร่างกายจะดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายโดยบริเวณลำไส้เล็กและนำไปใช้ได้ โดยคอเลสเตอรอลในอาหารนั้น “เป็นคนละตัวกันกับ คอเลสเตอรอลในเลือด” ตัวที่มีปัญหามากที่สุด คือ LDL จะสร้างขึ้นมาจากตับ เพื่อส่งออกมาสู่ระบบไหลเวียนเลือด LDL จะทำหน้าที่ขนส่งสารคอเลสเตอรอลให้กับเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องการ โดยเฉพาะการนำไปสร้างน้ำดี (ใช้ในการย่อยไขมัน) เป็นโครงสร้างของวิตามินดี (จำเป็นต่อสุขภาพกระดูก) และฮอร์โมนเพศ ฉะนั้น LDL จึงมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย ไม่ใช่ผู้ร้ายไปทั้งหมดเสียทีเดียวครับ
LDL ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือไม่ ?
ไม่ใช่ทั้งหมด ดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่า LDL ก็มีหน้าที่ที่สำคัญเช่นกัน ฉะนั้นปัญหาที่เกิดจาก LDL คือ การมีระดับ LDL สูงเกินไปเพราะพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของเราเอง ซึ่งปัจจัยในการ “สั่ง” ให้ตับสร้าง LDL มากเกินไปมีดังนี้
- การได้รับไขมันทรานส์ (Trans-fat) ที่มากหรือบ่อยเกินไป โดยไขมันทรานส์จะพบในรูปของมาการีน เนยเทียมหรืออาหารที่ใช้มาการีน เนยเทียมเป็นส่วนประกอบ เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ (คุกกี้ เค้ก พาย)
- การได้รับไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) มากเกินไป ย้ำว่า “มากเกินไป” เพราะหากได้รับในปริมาณที่ไม่มาก ก็ไม่กระตุ้นให้ตับสร้าง LDL มากนัก ไขมันประเภทนี้จะอยู่ในส่วนที่เป็นไขมันของเนื้อสัตว์ทุกชนิด เช่น หนังไก่ ขาหมู มันวัว ยกเว้นเนื้อจากสัตว์ทะเล เช่น ปลา กุ้ง หอย ปู หมึก นอกจากนี้ยังอยู่ในแหล่งไขมันจำพวกเนย ชีสต่างๆ และน้ำมันพืชบางชนิด ได้แก่ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและต้องระวังมากกว่าระดับ LDL
- ค่าสัดส่วนระหว่าง Total cholesterol และ HDL
เป็นตัวแปรหนึ่งที่หลายๆ คนอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกัน เราสามารถประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้โดย
“ค่าคอเลสเตอรอลรวม ÷ ค่า HDL” *
หากค่าที่ได้น้อยกว่า 3.5 แปลว่า “ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจต่ำ”
หากค่าที่ได้ มากกว่า 3.5 แปลว่า “เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ” โดยความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้น หากได้ค่าที่สูง
ตัวอย่าง
เมื่อนำค่า (Total) cholesterol = 232 หารด้วยค่า HDL = 33.2 ออกมาจะได้ 6.988 ซึ่งมากกว่า 3.5 แปลว่าเจ้าของผลเลือดคนนี้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสูง
*ดัดแปลงจากการคิดค่า total cholesterol / HDL ratio เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
- การอักเสบภายในร่างกาย
เคยได้ยินแต่แผลอักเสบ บวม แดง แล้วการอักเสบมันมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจด้วยหรือ? ที่จริงแล้ว ลำพัง LDL อย่างเดียวไม่ทำให้เกิดโรคหัวใจเลย แต่เมื่อเกิดกระบวนการอักเสบขึ้นแล้วจะสามารถกระตุ้นให้ LDL ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพและกระตุ้นให้เกิดคราบไขมันในผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น ในทางวิจัยจะเรียก LDL ชนิดพิเศษนี้ว่า Modified-LDL หรือกระทั่ง LDL ที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดตัวให้เล็กลง และเป็นต้นเหตุการเกิดคราบไขมันในหลอดเลือดได้ง่ายขึ้น เรียกว่า Small-dense LDL ซึ่งเมื่อเราเปรียบเทียบ LDLธรรมดากับ LDL ดัดแปลงเหล่านี้แล้ว จะพบได้ว่า LDL แทบจะเป็นเสือไร้เขี้ยวเล็บเลยทีเดียว นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่า ทำไมการสนใจแต่ LDL มากเกินไปนั้นจึงไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ปัจจัยที่ทำให้ LDL เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ หลักๆ แล้วคืออาหารที่บริโภค บางงานวิจัยพบว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงบ่อยๆ อาจกระตุ้นให้เกิด Modified LDL ได้เช่นกัน แม้ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดไม่ได้ แต่การปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมก็ยังเป็นคำตอบที่ดีที่สุดอยู่ดีครับ
- การบริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าคำแนะนำ
มีการศึกษามากมายที่ช่วยยืนยันผลของการบริโภคผักและผลไม้ต่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ (และนานาโรคเรื้อรัง) ด้วยประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร วิตามินต่างๆ จะเป็นการช่วยให้สุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง ด้วยหลายๆ กลไกด้วยกัน ดังนี้
- – ลดการเกิดภาวะอักเสบในผนังหลอดเลือด ช่วยชะลอการเกิดการเปลี่ยนแปลง LDL ได้
- – ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ได้
- – ช่วยลดระดับ LDL ในกระแสเลือด โดยจับน้ำดีในทางเดินอาหารทิ้งไป กระตุ้นให้ร่างกายดึง LDL ไปใช้สร้างน้ำดีมากขึ้น
บทสรุปทิ้งท้าย
ไขมันในเลือดเป็นตัวชี้วัดทางสุขภาพอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างตรงไปตรงมากับชีวิตของแต่ละคน ถ้าใช้ชีวิตนั่งๆ นอนๆ ในแต่ละวันมีแต่เรื่องกินและไม่คิดที่จะออกกำลังกายหรือขยับตัวให้ Active เลย ก็มักพบว่ามีระดับ LDL ในเลือดสูงอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ปรับรูปแบบการใช้ชีวิต ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอและเลือกรับประทานอาหารให้สมดุล ย่อมมีสุขภาพที่ดีกว่าอยู่แล้ว
อ้างอิง
- Dietary guideline for Americans 2015 – 2020, 8th Edition
- NCEP ATPIII, At a Glance Quick Desk Reference. 2001 NIH
- Toft-Petersen AP, Tilsted HH, Aarøe J, et al. Small dense LDL particles – a predictor of coronary artery disease evaluated by invasive and CT-based techniques: a case-control study. Lipids in Health and Disease. 2011;10:21. doi:10.1186/1476-511X-10-21.
- Wang Xia, Ouyang Yingying, Liu Jun, Zhu Minmin, Zhao Gang, Bao Wei et al. Fruit and vegetable consumption and mortality from all causes, cardiovascular disease, and cancer: systematic review and dose-response meta-analysis of prospective cohort studies. BMJ 2014; 349 :g4490