เก๊า อะแฮ่ม…. !! เค้ามาชวนคุยเรื่องเกาต์ (Gout) กันครับ
หลายครั้งที่กลุ่มคนเล่นกล้ามมักโดนค่อนแคะเสมอ ๆ ว่า “กินไก่อยู่นั่นล่ะ เดี๋ยวเกาต์ก็กินหรอก” แรก ๆ ก็ฟังแล้วขำไป แต่พอโดนแซวนาน ๆ เข้าก็เริ่มคิดหนักขึ้นว่า “เอ่…หรือจะเป็นเกาต์จริง ๆ เสียนี่” ดังนั้นปัญหาสุขภาพตัวหนึ่งที่ได้รับความสนใจกันค่อนข้างมาก ก็ไม่พ้นเรื่องกระดูกและข้อของเรานี่ล่ะ วันนี้เราจะมาคุยกับเรื่องเก๊า ๆ เธอ ๆ กันครับ
กรดยูริค คืออะไร ?
เริ่มต้นจากกรดยูริค หรือ Uric acid สารนี้สามารถเกิดขึ้นได้เองจากกระบวนการทางเคมีในร่างกายเราเอง โดยธรรมชาติแล้วจะเกิดขึ้นจากการสลายสารกลุ่มพิวรีน หลังจากกรดยูริคเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว จะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะได้ ซึ่งกรดยูริคไม่ได้มีแต่โฉมหน้าเป็นผู้ร้ายเท่านั้น แต่กรดยูริคเองสามารถแสดงฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในน้ำเลือดได้อีกด้วย ฉะนั้นการไม่มีกรดยูริคในเลือดเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ กรณีที่ร่างกายเสียสมดุลในการจัดการกรดยูริคไป โดยปัญหาพบกรดยูริคในเลือดสูงนั้น สาเหตุหลักจะไม่ใช่การสร้างกรดยูริคมากเกิน แต่เป็นการขับทิ้งทางปัสสาวะได้น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ส่งผลให้กรดยูริคตกค้างอยู่ในกระแสเลือดมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นเหตุให้ตรวจพบระดับกรดยูริคในเลือดสูงได้ ค่าปกติของกรดยูริคในเลือดจะแตกต่างกันตามผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการแต่ละแห่ง ค่าโดยประมาณที่ควรมีจะอยู่ที่ 4.5 – 6.9 mg/dL
กรดยูริคสูงกับเกาต์ ไม่เท่ากัน
ถ้าคิดให้ดี โรค (เกาต์) นี้ประหลาด เพราะเมื่อเรามีกรดยูริคสูง ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเกาต์เสมอไป แม้ในบางคนมีกรดยูริคในเลือดไม่สูงมาก ก็อาจมีอาการของเกาต์ได้ และไม่ใช่ว่าคนที่เป็นเกาต์ทุกคนจะมีกรดยูริคในเลือดสูง เอ้า เอาเข้าไป อ่านแล้วงงไหมครับ ? เรามาไล่ลำดับเรื่องราวนี้กันดีกว่า
กรดยูริคในเลือดสูงนั้น สามารถเกิดจากได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยสาเหตุที่พบได้มากที่สุดในประชากรไทยคือ การส่งต่อทางพันธุกรรมผ่านทางฝ่ายพ่อและเพศชาย โดยทั่วไปแล้วภาวะกรดยูริคในเลือดสูงมักพบในเพศชายมากกว่าหญิง เมื่อเรามีกรดยูริคในเลือดสูงแล้ว จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดเกาต์ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเกาต์เสมอไปครับ
เกาต์ เกิดจากภาวะที่กรดยูริคตกผลึกโดยการกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ ผลึกนี้จะมีลักษณะคมคล้ายมีด จึงทำอันตรายบริเวณพื้นที่ที่มีการสะสมในลักษณะคล้ายโดนของมีคมทิ่มแทงหรือเสียดสี ซึ่งผลึกยูริคส่วนใหญ่จะสะสมบริเวณข้อกระดูก โดยเฉพาะข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า มีอาการอักเสบของข้อ ทำให้มีการบวม ปวดบริเวณข้อ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่ลดลงเพราะเมื่อข้อมีการพับเข้าออก ก็จะมีผลึกยูริคคอยทิ่มเนื้อเยื่อบริเวณข้อไปมา ทำให้เกิดการเจ็บปวดได้ ซึ่งอาการที่มีผลึกยูริคสะสมบริเวณข้อต่าง ๆ ประกอบกับมีอาการปวด บวม แดงจนมีปัญหาต่อการเคลื่อนไหวนี้ เรียกรวมกันว่า เกาต์ (Gout)
ตามประเด็นหลักที่จั่วหัวไว้ มีประเด็นที่ว่าในคนบางคนนั้นตรวจพบว่ามีกรดยูริคในเลือดสูงมากตลอดชีวิต แต่กลับไม่เคยมีอาการของเกาต์เลย ถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก เพราะการที่กรดยูริคจะก่อปัญหานั้น ต้องรอให้กรดยูริคตกผลึกตามข้อต่าง ๆ เสียก่อน การป้องกันไม่ให้กรดยูริคตกผลึกจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกาต์มาเยือนเราได้ กลวิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้มีประโยชน์ต่อการป้องกันตัวเองจากภาวะเกาต์กำเริบได้ครับ
- – ดื่มน้ำเปล่าให้เป็นนิสัย และให้แน่ใจว่าดื่มเปล่าเพียงพอ เพราะน้ำจะช่วยเพิ่มโอกาสการขับกรดยูริคออกจากร่างกายได้มากขึ้น
- – ลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์หากทำได้ เพราะหลายกรณีของคนไข้ที่ไปพบแพทย์เนื่องจากปวดข้อเพราะเกาต์นั้น มักมีอาการหลังดื่มแอลกอฮอล์ไม่กี่ชั่วโมง
- – เลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ส่วนที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ และลดความถี่ในการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงลง เช่น หมู วัว
- – ทำร่างกายให้อบอุ่นหรืออุณหภูมิคงที่เสมอ อาการปวดเกาต์กำเริบมากขึ้นเมื่ออากาศในบริเวณที่อยู่เย็นลง จึงพบได้ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตก เข้าฤดูหนาว ฤดูฝน เป็นต้น
- – วิธีการใด ๆ ที่ช่วยควบคุมระดับกรดยูริคในเลือดได้ จะช่วยลดโอกาสที่จะปวดเกาต์ได้ด้วย
กรดยูริคสูงต้องทำยังไง ?
แม้เราจะเข้าใจแล้วว่า กรดยูริคในเลือดสูงก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเกาต์เสมอไป แต่การควบคุมไม่ให้กรดยูริคในเลือดสามารถเพิ่มระดับขึ้นก็น่าจะเป็นผลดีมากกว่า วิธีการที่จะช่วยควบคุมระดับกรดยูริคในเลือดไม่ให้สูงขึ้นมากเกินไป จะเน้นไปที่การควบคุมปัจจัยที่เสริมให้กรดยูริคสะสมในร่างกาย โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ว่า มีดังนี้
- – การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำสามารถเพิ่มระดับกรดยูริคในเลือดให้สูงขึ้นได้ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการขับกรดยูริคทิ้งทางปัสสาวะลง
- – อาหารที่มีพิวรีนสูง โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล (ยกเว้นเนื้อปลา) จะให้สารพิวรีนสูงกว่าเนื้อสัตว์สีขาว (ไก่ ปลา) สามารถเพิ่มระดับกรดยูริคในเลือดได้
- – น้ำซุป น้ำสต๊อก เพราะกรรมวิธีการปรุงอาหารกลุ่มซุปต้องอาศัยการเคี่ยว ตุ๋นเนื้อสัตว์ โครงกระดูกเป็นเวลานาน จึงทำให้พิวรีนในส่วนต่าง ๆ ที่นำมาตุ๋นนั้นหลุดออกมาและละลายอยู่ในน้ำซุปเกือบทั้งหมด หากรับประทานน้ำซุปเหล่านี้มาก ๆ จะทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้นได้
- – เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลชนิด ฟรุคโตส (Fructose) โดยหลักฐานในช่วงหลังมานี้พบว่า ฟรุคโตสมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มระดับกรดยูริคในกระแสเลือด ซึ่งฟรุคโตสจะพบได้ในน้ำผึ้งและผลไม้ตามธรรมชาติ และยังพบว่าเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อต่าง ๆอีกด้วย
- – น้ำผลไม้ สืบเนื่องจากน้ำตาลฟรุคโตสสามารถเพิ่มระดับกรดยูริคได้ ในน้ำผลไม้จะมีน้ำตาลฟรุตโตสจากผลไม้เข้มข้นกว่าผลไม้สดทั่วไปจึงควรหลีกเลี่ยง แม้ผลไม้จะมีน้ำตาลฟรุคโตสก็ตามแต่การห้ามไม่ให้บริโภคผลไม้เลยก็ไม่ใช่คำแนะนำที่ดี ผู้ที่มีปัญหากรดยูริคในเลือดสูงควรเลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น แอปเปิ้ล แก้วมังกร กีวี สับปะรด มะละกอ ในปริมาณที่เหมาะสม จะไม่เป็นการเพิ่มกรดยูริคในเลือดมากจนเกินไป ส่วนผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด มังคุด เงาะ ควรหลีกเลี่ยงหากทำได้ เมื่อมีโอกาสได้รับประทานควรกำหนดปริมาณเล็ก ๆ เช่น 2-3 ลูก หรือชิ้นคำเพื่อป้องกันไม่ให้กรดยูริคสูงขึ้นมากเกินไป
จะเห็นได้ว่า หากมีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงแล้ว เพียงเราระมัดระวังในการเลือกอาหารมารับประทานมากขึ้นเพียงเล็กน้อยก็สามารถลดระดับกรดยูริคในเลือดได้แล้วครับ
แล้วไก่ล่ะ ? กินได้ไหม
ตอบก่อนเลยว่า “กินได้แน่นอนครับ” แต่เราต้องคุยกันต่อหน่อยนึง จะได้เข้าใจกันให้ถูกต้อง
สืบเนื่องจากปัญหากรดยูริคในเลือดสูงนั้น มาจากอาหารที่มีพิวรีนสูงด้วย ซึ่งเนื้อไก่จะหลุดจากโผกลุ่มอาหารที่มีพิวรีนสูงทันที ทว่าชิ้นส่วนของไก่ (รวมทั้งเนื้อจากสัตว์ประเภทอื่น ๆ) ที่มีพิวรีนสูง จะอยู่ที่เนื้อบริเวณข้อ ปีก น่อง เครื่องในและหนัง ฉะนั้นหากจะเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ใด ๆ ก็ตาม จึงควรเลือกเนื้อส่วนที่ไขมันน้อยถึงปานกลาง เช่น อก สะโพกลอกหนัง และเลี่ยงส่วนที่ยกมาข้างต้น เพื่อป้องกันไม่ให้กรดยูริคในเลือดสูงเกินไปนั่นเอง
.
สุดท้าย ฝากถึงคนที่เป็นเกาต์แล้ว หรือแค่กรดยูริคในเลือดสูงก็ตาม
หากคุณมีภาวะกรดยูริคในเลือดสูงแล้ว และไม่ว่าจะมีเกาต์แล้วหรือไม่ก็ตาม ควรปฏิบัติตามหลักง่าย ๆ ต่อไปนี้ครับ
- – ลด ละ เลี่ยงแอลกอฮอล์ให้มากที่สุด (จะใช้วิธีเมาดิบก็ได้ ไม่ว่ากัน)
- – ลด เลี่ยงเครื่องดื่มหวาน ๆ น้ำอัดลมทุกชนิด หากทำได้ ถ้าต้องการบริโภค ขอให้บริโภคในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะทำให้เราหายอยากรับประทานไปได้สักพักก็พอ
- – ลดเนื้อแดง เพิ่มเนื้อขาวเข้ามาแทน
- – ต้องรับประทานผักและผลไม้ เพราะสารต้านอนุมูลอิสระในอาหารกลุ่มนี้จะช่วยลดโอกาสที่จะอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ดี
- – ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ บ่อย ๆ หน่อยจะดีที่สุด
อ้างอิง
- Elisabeth Hak, and Hyon K. Choi. Lifestyle and gout. (2008) Current Opinion in Rheumatology,
20:179–186
- Gout: Is a Purine-Restricted Diet Still Recommended? (2009). American Dietetic Association