กล้ามจะโตมั้ยถ้ากินยาแก้ปวด/แก้อักเสบ


หลายคนเข้าใจว่ากระบวนการสร้างกล้ามเนื้อนั้นจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ (inflammation) เลยคิดต่อกันไปว่า “ถ้ากินยาแก้อักเสบแล้วจะมีผลเสียต่อการสร้างกล้ามเนื้อมั้ย?” การกินยาแก้อักเสบจะทำให้กล้ามขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็นรึเปล่า?

 

ในบทความนี้จะเอาข้อมูลที่มีการศึกษาวิจัยมาเผื่อคลายข้อสงสัยในประเด็นนี้กันนะครับ

หากกินยาแก้อักเสบในปริมาณไม่มากก็ไม่ส่งผลต่อการพัฒนาขนาดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

เป็นการทดลองเอายาแก้อักเสบไอบูโพรเฟนในปริมาณ 400 mg/วัน มาให้กลุ่มทดลองกินหลังออกกำลังกายทันที แต่ก็พบว่าปริมาณขนาดนี้ก็ไม่ส่งผลต่อการเพิ่มกล้ามเนื้อและความแข็งแรงแต่อย่างใด โดยกลุ่มทดลองนั้นก็สามารถพัฒนาได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้กินยาดังกล่าว

 

ปกติแล้วยาตัวนี้มักขายกันในขนาดเม็ดละ 400 mg ดังนั้นอาจจะสรุปได้ว่าในปริมาณปกติที่ขายกันนั้น การกินเพียง 1 โดสนั้นไม่ส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อ

 

หากกินยาแก้อักเสบในปริมาณมากถึงจะส่งผล

การทดลองที่แล้วกินไอบูโพรเฟนในปริมาณ 400 mg/วัน เทียบเท่ากับการกินแค่ 1 เม็ด ซึ่งอาจจะเป็นปริมาณที่น้อยกว่าที่คนส่วนใหญ่กินยานี้กันจริง ๆ จึงมีอีกงานวิจัยนึงที่ใช้ปริมาณยาในระดับที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริง

 

เป็นการทดลองเอาไอบูโพรเฟนปริมาณ 1,200 mg/วัน ซึ่งปริมาณขนาดนี้เทียบเท่าได้กับการกินไอบูโพรเฟนวันละ 3 เม็ด ซึ่งน่าจะเป็นปริมาณที่คนใช้กัน

 

พบว่ากลุ่มที่ได้รับไอบูโพรเฟน 1,200 mg/วัน ติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์ สามารถเพิ่มกล้ามเนื้อได้ 3.7% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับในปริมาณที่น้อยมาก ๆ สามารถเพิ่มกล้ามเนื้อได้ 7.5%

 

อาจจะเห็นว่าการได้รับยาในปริมาณที่ใช้กันจริงๆ นั้นมีผลกระทบต่อการเพิ่มกล้ามเนื้อก็จริง แต่อย่าลืมว่านี่คือการกินยาในปริมาณ 1,200 mg/วัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ (2 เดือน) ดังนั้นถ้าไม่ได้กินติดต่อกันนาน ๆ ถึงขนาดนี้ก็คงจะไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

 

สำหรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องกินยาแก้อักเสบจริงๆ (เช่น การรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์) ก็ควรที่จะปฏิบัติตาม ส่วนผลกระทบต่อกล้ามเนื้อนั้นก็ไม่ได้น่ากลัวมากเพราะส่วนมากก็ไม่ได้กินติดต่อกันนานแบบที่เจอในการทดลองนี้

 

 

อ้างอิง

1.Lilja M, Mandic M, Apro W, Melin M, Olsson K, Rosenborg S, et al. High doses of anti-inflammatory drugs compromise muscle strength and hypertrophic adaptations to resistance training in young adults. Acta Physiol (Oxf). 2017.
2.Krentz JR, Quest B, Farthing JP, Quest DW, Chilibeck PD. The effects of ibuprofen on muscle hypertrophy, strength, and soreness during resistance training. Appl Physiol Nutr Metab. 2008;33(3):470-5.


(Visited 2,749 times, 1 visits today)

Last modified: May 8, 2019