ในภาวะปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีอัตราการเผาผลาญกันอยู่ที่ระดับหนึ่งซึ่งระดับการเผาผลาญเหล่านี้จะถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- • ปริมาณกล้ามเนื้อ
- • ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง (เช่นฮอร์โมนไทรอยด์)
- • กิจวัตรประจำวันของแต่ละคน
ไทรอยด์เป็นฮอร์โมนตัวที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกายโดยตรง
ฮอร์โมนไทรอยด์ หรือ ไทรอกซิน เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ในการทำให้กระบวนการใช้พลังงานและการเผาผลาญเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมเมื่อการทำงานของไทรอยด์ผิดปกติไป จะทำให้ระบบการเผาผลาญและการใช้สารอาหารของร่างกายมีความผิดปกติไป โดยรูปแบบความผิดปกติที่เกิดกับไทรอยด์ได้ จะพบอยู่สองลักษณะหลัก คือ
- • ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroid) โดยมีอัตราการเผาผลาญสูงขึ้น บางคนอาจมีอาการเหงื่อออกง่าย ร่วมกับใจสั่น กระสับกระส่าย น้ำหนักลดแม้จะกินอาหารเท่าเดิม
- • ทำงานลดลง (Hypothyroid) จะมีลักษณะของการเผาผลาญที่ลดลง สารอาหารและพลังงานสะสมในร่างกายมากขึ้น ทำให้รู้สึกไม่ค่อยมีแรง เฉื่อยชา น้ำหนักตัวเพิ่ม อ้วนง่ายกว่าปกติ
ฟังอย่างนี้มีใครที่โทษตัวเองว่า “น้ำหนักขึ้นง่ายทั้ง ๆ ที่กินนิดเดียวเอง สงสัยจะเป็น hypothyroid” ผมแนะนำว่าให้ไปตรวจระดับของฮอร์โมนไทรอยด์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกจะดีกว่าครับ เพราะหลาย ๆ ครั้งที่ผมได้ยินบางคนพูดแล้วซักประวัติไปมา พบว่าน้ำหนักขึ้นเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่สมดุลร่วมกับการขี้เกียจออกกำลังกายเสียมากกว่า -_-“
การป้องกันและรักษา
ไทรอยด์เป็นโรคที่มีสาเหตุไม่แน่ชัด ถ้าว่ากันตามตรงคือ ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ยังพอมีข้อมูลความเสี่ยงที่พบตามสถิติของโอกาสในการเกิดโรคไทรอยด์ มีดังต่อไปนี้ครับ
- • มักพบความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- • อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัยที่มีอายุมากกว่า 50 ขึ้นไป จะพบโอกาสการเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับไทรอยด์สูงกว่า
- • ผู้ที่เคยมีประวัติมีความผิดปกติเกี่ยวกับไทรอยด์ โดยเฉพาะภาวะไทรอยด์อักเสบ จะมีโอกาสการเกิดความผิดปกติอื่น ๆ เกี่ยวกับไทรอยด์ซ้ำได้ เว้นแต่จะได้รับการรักษาโดยผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกแล้ว
- • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะโรคกลุ่มที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์ได้
- • ผู้ที่ได้รับธาตุไอโอดีนน้อยหรือไม่เพียงพอ (ซึ่งปัจจุบันมักไม่ค่อยพบแล้ว)
หากเห็นว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว ผมแนะนำว่าให้ไปรับการตรวจสุขภาพปีละหนึ่งครั้ง เพื่อหาความเสี่ยงและประเมินสุขภาพเป็นระยะจะดีที่สุดครับ
คนเป็น Hypothyroid ออกกำลังกายและกินอยู่ให้สุขภาพดีอย่างไร ?
“ได้ครับ”
..
…
…..
ก็ห้วนไปเนาะ
ที่จริงแล้วคนที่มีภาวะผิดปกติของไทรอยด์ ทั้งแบบ Hyper และ Hypo ของไทรอยด์ก็สามารถออกกำลังกายได้อย่างปกติ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไปรับการรักษาหรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่งให้เรียบร้อยก่อน และให้มั่นใจว่าสภาพร่างกายตนเองสามารถออกกำลังกายได้อย่างปกติแล้ว เพราะหากขาดการดูแลแล้วอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น เหนื่อยเร็วกว่าปกติ หายใจไม่ทัน และออกกำลังกายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะระบบการทำงานของร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องให้แน่ใจว่าระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติและการใช้พลังงานของร่างกายเข้าสู่ภาวะปกติเสียก่อน จึงจะสามารถออกกำลังกายได้อย่างสบายใจ
โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะ Hypothyroid จะมีการใช้พลังงานน้อยกว่าปกติ และความทนต่อการออกกำลังกายจะลดลงได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็อาจเป็นอันตรายได้
ผู้ที่เป็น Hypothyroid จะกินอาหารยังไงให้ลดไขมันได้
สำหรับผู้ที่เป็น Hypothyroid ที่ได้รับการรัษาที่เหมาะสมแล้วนั้นก็สามารถไดเอทได้เหมือนคนปกติไม่ได้มีข้อจำกัดใด ๆ เป็นพิเศษ
แต่ในบางคนหากไม่สามารถรักษาระดับฮอร์โมนให้สมดุลได้แล้ว ก็มีโอกาสอ้วนง่ายกว่าปกติเล็กน้อย เรามีคำแนะนำด้านการกินอาหารมาให้ผู้ที่เป็น Hypothyroid ปฏิบัติกันครับ
- 1.รับประทานอาหารให้สมดุลและหลากหลาย ทั้งหมวดหมูข้าวแป้ง เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้เป็นประจำทุกมื้อ ร่วมกับการออกกำลังกายให้ครบถ้วนและเพียงพอ
- 2.ลดการทานผักที่มีสาร Goitrogen (กะหล่ำปลี บรอคโคลี่ ดอกกะหล่ำ คะน้า รวมถึงถั่วเหลือง) เพราะ Goitrogen จะมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Thyroid peroxidase ซึ่งมีบทบาทในการสังเคราะห์ฮอร์โมนไทรอยด์ และควรปรุงให้สุกก่อนทุกครั้ง (หลีกเลี่ยงการกินแบบดิบ)” เพราะสาร Goitrogen จะเสียสภาพภายหลังจากการปรุงอาหารด้วยความร้อน จึงปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า
- 3.ควรเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลในรูปแบบของเครื่องดื่มที่มีความหวานเท่าที่ทำได้ อาจเลือกเป็นสูตรหวานน้อย หรือดื่มให้น้อยลงหรือนาน ๆ ที ก็ได้ เพื่อลดโอกาสการสะสมของไขมันให้มากที่สุด
- 4.ระวังการกินผลไม้ที่มากเกินไป ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มน้ำหนักตัวได้ เพราะผลไม้มีปริมาณน้ำตาลที่สูงกว่าอาหารประเภทอื่นๆ จึงควรรับประทานแต่พอดี ซึ่งปริมาณที่แนะนำต่อครั้งคือ ครั้งละ 1 จานกาแฟ (หรือประมาณ 1 กำปั้นมือของเรา) วันละ 2-3 ครั้ง และหากทำได้ ควรเลือกผลไม้ที่รสชาติไม่หวานจัดเป็นหลัก
หลักการดูแลสุขภาพของผู้ที่เป็น Hypothyroid ทั้งเรื่องออกกำลังกายและอาหาร ไม่แตกต่างจากผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไป แต่อาจต้องให้ความเอาใจใส่มากขึ้นกว่าคนทั่วไป เพราะมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพอยู่บ้าง ดังนั้นจึงสบายใจได้ว่ายังสามารถออกกำลังกายและเลือกอาหารการกินให้ดีหน่อย สุขภาพก็แข็งแรง น้ำหนักตัวปกติได้ไม่แตกต่างจากคนทั่วไปครับ