จริง ๆ ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงที่มีมานานมาก และจะยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ กับเรื่องของการจำกัดสัดส่วนของสารอาหารหลักที่ให้พลังงาน ว่าการจำกัดคาร์โบไฮเดรต หรือการจำกัดไขมันนั้นดีกว่ากันในแง่ของการลดน้ำหนัก ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกว่าทั้งสองแบบก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันไปครับ
การไดเอทแบบจำกัดปริมาณไขมัน (low fat)
ข้อดี
- เพราะไขมันให้พลังงานสูงสุดต่อกรัม การจำกัดไขมันจึงช่วยลดปริมาณพลังงานรวมในอาหารได้
- อาหารไขมันสูงเอื้อต่อการได้รับพลังงานเกินจากการบริโภค
- มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการจำกัดไขมันช่วยลดน้ำหนักได้
- ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวม และ LDL ได้
ข้อเสีย
- การบริโภคคาร์โบไฮเดรตปริมาณมากอาจเพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด รวมถึงลดระดับ HDL ในเลือดได้ หากไม่มีการออกกำลังกายร่วมด้วย
การไดเอทแบบจำกัดปริมาณคาร์บ (low carb)
ข้อดี
- ช่วยลดความหิว (จากการเกิดภาวะ ketosis)
- งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าลดน้ำหนักได้ดีกว่าอาหารจำกัดไขมัน
- การบริโภคอาหารโปรตีนสูงช่วยคงสภาพกล้ามเนื้อได้ดีกว่า
- ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และเพิ่ม HDL ได้
- อาจช่วยให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น
ข้อเสีย
- ยังไม่มีรายงานความปลอดภัยทีแน่ชัดในระยะยาว (> 1 ปี)
- ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลของการลดน้ำหนักระยะยาว (> 1 ปี)
- อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์ กระดูกพรุน และโรคไตได้
จะเห็นว่าการบริโภคอาหารทั้งสองแบบนั้นก็มีข้อดีและข้อเสียคล้าย ๆ กัน แต่ถ้าจะโฟกัสเฉพาะเรื่องของการลดน้ำหนัก แบบไหนได้ประโยชน์กว่ากัน? ก็ต้องตอบว่าได้ประโยชน์ทั้งคู่ครับ มีงานวิจัยจำนวนมาก ๆ ที่ทำการเปรียบเทียบการบริโภคอาหารจำกัดคาร์โบไฮเดรต กับการจำกัดไขมัน แล้วพบว่าผลที่ได้ไม่แตกต่างกันครับ ในระยะสั้น ๆ การบริโภคอาหารแบบจำกัดคาร์โบไฮเดรตอาจให้ผลในการลดน้ำหนักได้ดีกว่า แต่ในระยะยาวเราพบว่าไม่แตกต่างกันครับ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผล อยู่ที่ว่าคนเราจะทำตามแบบแผนการบริโภคอาหารได้นานแค่ไหนครับ ดังนั้น การพิจารณาเลือกแบบแผนการบริโภคอาหาร จึงควรขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลเป็นหลัก ว่าพฤติกรรมของตนเอง ชอบกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ๆ หรือไขมันสูง ๆ มากกว่ากัน แล้วค่อยปรับตามแบบที่ตนเองสามารถทำได้นาน ๆ แบบนี้น่าจะดีที่สุดครับ
อ้างอิง
Volek JS, et al. Diet and exercise for weight loss: A review of current issues. Sports Med. 2005; 35(1): 1-9.
Bellissimo N, et al. Effect of macronutrient composition on short-term food intake and weight loss. Adv Nutr. 2015; 6(3): 302S-8S
Fleming JA, Kris-Etherton PM. Macronutrient Content of the Diet: What Do We Know About Energy Balance and Weight Maintenance? Curr Obes Rep. 2016; 5(2): 208-13.