Wearables: อุปกรณ์อัจฉริยะช่วยลดหุ่นและเสริมสร้างสุขภาพ
ปัจจุบันมีสินค้าพวก Wearables อย่างนาฬิกาอัจฉริยะ, อุปกรณ์วัดชีพจร, อุปกรณ์นับก้าวเดิน หรือพวก activity tracker ต่างๆ วางขายมากมาย ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าได้ผลหรือไม่ยังไง ช่วยได้มากแค่ไหน ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเอาไว้ดังนี้
การศึกษาพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ใส่ออกกำลังกายมากขึ้น
พบว่ากลุ่มตัวอย่างก่อนที่จะมีอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะเฉลี่ยออกกำลังกาย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่เมื่อคนเหล่านี้มีอุปกรณ์เหล่านี้ก็พบว่าเฉลี่ยออกกำลังกายมาขึ้นเป็น 5-7 ครั้งต่อสัปดาห์แทน อาจจะกล่าวได้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้นับเป็นแหล่งกระตุ้นให้เกิดการออกกำลังกายมากขึ้น
มีงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าอุปกรณ์เหล่านี้ส่งผลต่อระดับการออกกำลังกายโดยมีทั้งที่พบว่ามีระดับการใช้พลังงานมากขึ้นราวๆ 400-1,000 Kcal ต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าผลของการกระตุ้นนี้ทำให้เกิดการออกกำลังกายที่สามารถช่วยลดไขมันได้ประมาณ 0.5-1 kg ภายในสองเดือน (ประมาณค่าว่าการเผาผลาญไขมัน 1 kg ต้องใช้พลังงานราว 7,000 Kcal)
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
จากการทดลองข้างต้นได้พบว่าเมื่อได้รับอุปกรณ์แล้ว ผู้ใส่มีระดับกิจกรรมที่มากขึ้น และระดับกิจกรรมที่ไม่ใช่การออกกำลังกายลดลง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ลงลึกถึงสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
แต่จากการวิเคราะห์แบบสำรวจพบว่าประมาณ 75% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามนั้นกล่าวว่าการที่ได้ติดตามผลจากการวัดค่าต่างๆ โดยอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้มีความรู้สึกอยากมีกิจกรรมการใช้พลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (เช่นตั้งใจว่าจะเดินให้ได้วันละ 1,000 ก้าว) ก็ยิ่งทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อในวันถัดๆ ไป ยิ่งสามารถเพิ่มเป้าหมายได้เรื่อยๆ (เช่น สามารถเดินได้มากขึ้น เห็นว่าแคลอรี่ที่ใช้ต่อวันเยอะขึ้น) ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความอยากทำลายสถิติไปเรื่อยๆ
การตั้งเป้าหมายและติดตามผลนั้นส่งผลดีต่อรูปร่างและสุขภาพ ในอดีตอาจจะใช้การเขียนเป้าหมายและจดบันทึกลงสมุดบันทึกซึ่งก็ได้รับผลดีเช่นกัน แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นทำให้สะดวกในการจดบันทึกและติดตามผลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยลดขั้นตอนของการบันทึกด้วยตัวเอง (หลายๆ อุปกรณ์มีฟังก์ชั่น sync ข้อมูลกับ app ต่างๆ) ช่วยลดขั้นตอนลงจนเหลือแค่การออกกำลังกายอย่างเดียว และทำให้รู้สึกสนุกกับการออกกำลังกายและติดตามผลในแต่ละวัน เมื่อเราได้ออกกำลังกายเป็นประจำ มีระดับการใช้พลังงานที่มากขึ้น เมื่อรวมกับการควบคุมอาหารที่เหมาะสมแล้วก็ทำให้เกิด calorie in < calorie out ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการดึงเอาไขมันสะสมมาใช้เป็นพลังงานนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามตัวอุปกรณ์เหล่านี้ก็เป็นทริกแบบนึงที่ใช้ในการกระตุ้นและเพิ่มระดับกิจกรรมเท่านั้น หากซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้งานก็คงจะไม่เห็นผลอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความสม่ำเสมอทั้งการออกกำลังกายและคุมอาหาร
อ้างอิง
- Z. H. Lewis, E. J. Lyons, J. M. Jarvis, J. Baillargeon, Using an electronic activity monitor system as an intervention modality: A systematic review. BMC Public Health 15, 585 (2015).
- L. Piwek, D. A. Ellis, S. Andrews, A. Joinson, The Rise of Consumer Health Wearables: Promises and Barriers. PLoS Med 13, e1001953 (2016).
- ELIZABETH, V.M. THE SUCCESS OF WEARABLES (Bachelors degree). Retrieve from https://arizona.openrepository.com/arizona/bitstream/10150/614173/1/azu_etd_mr_2016_0227_sip1_m.pdf