กินโปรตีนก็กระตุ้นอินซุลิน

Nutrition

 

อินซุลินดูเหมือนจะถูกกล่าวหาว่าเป็นฮอร์โมนตัวร้ายที่ทำให้เราสะสมไขมันมากขึ้น ทำให้ลดน้ำหนักไม่ได้ เพราะตัวหน้าที่ของอินซุลินนั้นที่กระตุ้นให้เกิดการกักเก็บสารอาหารเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงเซลล์ไขมันด้วย จึงเป็นที่มาของคำแนะนำหลาย ๆ ที่ที่ว่าพยายามรักษาระดับอินซุลินให้ต่ำเข้าไว้ถึงจะลดไขมันได้ดี

 

ซึ่งการไดเอทที่พยายามรักษาระดับอินซุลินให้ต่ำนั้นก็จะเป็นประเภทที่กินคาร์บให้น้อยเข้าไว้ อาจจะเป็นแนว low carb diet หรือถึงขั้น ketogenic diet ไปเลยก็มี ซึ่งส่วนมากก็จะมีการเพิ่มสัดส่วนของโปรตีนหรือไขมันเข้าไป เนื่องจากคาร์บที่ได้รับนั้นน้อยกว่ากินแบบปกติก็น่าจะทำให้อินซุลินไม่ขึ้นสูงมาก

 

*เพราะอินซุลินจะหลั่งมากเมื่อมีน้ำตาลในเลือดเยอะๆ ซึ่งพออินซุลินหลั่งแล้วก็จะทำให้น้ำตาลถูกเก็บเข้าสู่เซลล์ (ซึ่งรวมถึงเซลล์ไขมันด้วย) ก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง ดังนั้นถ้ากินคาร์บน้อยก็น่าจะทำให้อินซุลินหลั่งน้อย

 

แต่กินโปรตีนก็กระตุ้นอินซุลินได้เหมือนกัน

 

มีการทดลองการกินโปรตีน (ในการทดลองนี้ใช้เวย์) ที่ปริมาณ 0, 10, 20 และ 40 g แล้วดูปริมาณอินซุลินในเลือดดูก็พบว่ายิ่งโปรตีนที่กินมากเท่าไรก็มีระดับอินซุลินมากขึ้นตามลำดับ แสดงว่าการกินโปรตีน (โดยที่ไม่มีคาร์บ) ก็กระตุ้นอินซุลินได้

 

อันนี้เนื่องจากกรดอะมิโน (หน่วยย่อย ๆ ของโปรตีน) บางตัวอย่าง Leucine นั้นมีคุณสมบัติเป็น insulinotropic ซึ่งหมายความว่าสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซุลินได้  ดังนั้นการกินโปรตีนอย่างเดียวนั้นก็สามารถกระตุ้นอินซุลินได้

 

ดังนั้นการกินที่พยายามกินแต่โปรตีนและไขมัน (และเลี่ยงคาร์บ) เพื่อที่จะคุมไม่ให้หลั่งอินซุลินเพื่อที่จะลดไขมัน แล้วเมื่อลดไขมันได้ก็ยกประโยชน์ให้ว่าเพราะคุมไม่ให้อินซุลินหลั่งเลยทำให้ลดไขมันได้ แต่ในเมื่อยังมีโปรตีนอยู่ก็ต้องมีการหลั่งอินซุลินอยู่ดี  แสดงว่าที่ลดไขมันได้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการคุมไม่ให้อินซุลินหลั่งเลยเพราะมีอินซุลินจากการกินโปรตีนแต่ก็ลดไขมันได้ (เมื่อคุมสารอาหารให้เหมาะสม)

 

ฮอร์โมนอินซุลินไม่ใช่ตัวร้ายในการลดไขมันอย่างที่เข้าใจกัน ไม่ต้องกลัวขนาดที่จะพยายามคุมไม่ให้มันหลั่ง (เพราะถ้ากินโปรตีนยังไงก็หลั่งอยู่ดี และการไดเอทก็ยังได้ผลอยู่ดี) แต่สิ่งสำคัญคือการควบคุมอาหารเพื่อให้เกิด Cal deficit หรือพลังงานติดลบ และเมื่อเรากินน้อยกว่าที่ร่างกายใช้ก็จะทำให้ร่างกายต้องดึงไขมันที่สะสมมาใช้เป็นพลังงานชดเชย ซึ่งถ้าเกิดกระบวนการนี้ซ้ำ ๆ ก็จะทำให้ปริมาณไขมันที่หายไปนั้นมันมากพอที่จะทำให้รูปร่างเราดีขึ้นนั่นเองครับ

 

#PlanforFIT

 

 

 

 

 

อ้างอิง

Witard OC, Jackman SR, Breen L, Smith K, Selby A, Tipton KD. Myofibrillar muscle protein synthesis rates subsequent to a meal in response to increasing doses of whey protein at rest and after resistance exercise. Am J Clin Nutr. 2014;99(1):86-95.

 

(Visited 1,658 times, 1 visits today)

Last modified: May 8, 2019