![](https://wordpress.planforfit.com/wp-content/uploads/2017/04/336_taohoo_p_final.jpg)
ไฟโตเอสโตรเจนกับกล้ามของเรา
![](https://wordpress.planforfit.com/wp-content/uploads/2017/04/336_taohoo_p_final.jpg)
“เป็นผู้ชายอย่ากินเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองเยอะ เดี๋ยวนมโตแบบผู้หญิงนะ เพราะมันมีฮอร์โมนเพศหญิง ‘เขา’ ว่ามา”
ประโยคข้างต้น ดูรบกวนจิตใจหลาย ๆ คนจนไม่กล้ากินเต้าหู้เหลือเกิน จริงไหมครับ ? สารตัวหนึ่งที่โดนกล่าวหาว่าสร้างปัญหาให้กับเรื่องนี้คือ ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่พบในอาหารกลุ่มพืชหลายชนิด แต่พบได้มากในถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นหลัก ถ้าจะปักใจเชื่อหรือไม่ ผมว่าเรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มันนำไปสู่ข้อสรุปจากคำถามข้างต้นได้ยังไงบ้าง วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง “ไฟโตเอสโตรเจนและเรื่องนม ๆ กล้าม ๆ ” ครับ
ไฟโตเอสโตรเจนคืออะไร ?
เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า “เอสโตรเจน” กันมาในฐานะของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเป็นสารที่สร้างขึ้นเองได้ในร่างกายแต่ปริมาณแตกต่างกันระหว่างสองเพศ ในเพศชายจะมีอยู่น้อยมากจนไม่มีผลในเชิงสรีรวิทยา ส่วนสารไฟโตเอสโตรเจน (คำนี้มาจาก ไฟโต (Phyto) ที่แปลว่า พืช + เอสโตรเจน (Estrogen)) ถ้าตีความตรง ๆ ตามคำก็คือ “ฮอร์โมนเพศหญิงจากอาหารพวกพืช” นั่นเอง เหตุผลที่สารนี้ได้ชื่อนี้มาเพราะว่ามีลักษณะโครงสร้างทางเคมีคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนมากนั่นเองครับ
บทบาทของไฟโตเอสโตรเจนต่อสุขภาพของคน
เท้าความไปที่เอสโตรเจนก่อนว่า ฮอร์โมนนี้จะทำงานหลังจากที่ถูกสร้างออกมา แล้วเดินทางไปเจอที่ที่เหมาะสมที่จะออกฤทธิ์ได้ เราเรียกจุดที่ที่ฮอร์โมนจะเข้าจับออกฤทธิ์ได้ว่า พื้นที่ตัวรับ หรือ Receptor ซึ่งมีมากมายอยู่ตามอวัยวะหรือเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายและส่งผลที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเป็นเซลล์อะไร บทบาทที่น่าสนใจของไฟโตเอสโตรเจนคือ นอกจากจะมีหน้าตาละม้ายคล้ายเอสโตรเจน แล้ว ยังสามารถไปจับกับพื้นที่ตัวรับเดียวกันกับของเอสโตรเจนได้ แต่การจับของไฟโตเอสโตรเจนในร่างกายนั้นจะไม่กระตุ้นให้เซลล์นั้นออกฤทธิ์หรือแสดงแสนยานุภาพแต่อย่างใด เช่น ในคนที่มีเนื้องอกเต้านม สาเหตุที่มักพบคือเอสโตรเจนตัวจริงไปจับกับพื้นที่ตัวรับบริเวณเซลล์เต้านมแล้วทำให้เซลล์เจริญมากขึ้น แต่เมื่อไฟโตเอสโตรเจนจากอาหารที่เรากินเข้ามาเจอเซลล์เต้านม มันจะแค่จับเฉย ๆ แต่ไม่ได้ออกฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์บริเวณนี้เจริญเหมือนแย่งงานของเอสโตรเจนนั่นล่ะครับ พูดอีกอย่างง่าย ๆ ว่า การมีอยู่ของไฟโตเอสโตรเจนนั้นจะแย่งที่ยืนของเอสโตรเจนได้
บทบาทที่สำคัญของสารนี้คือ ทางตะวันมีการศึกษาในระยะแรก ๆ พบว่า ทำไมคนทางตะวันออกที่มีวัฒนธรรมการกินอาหารโดยมีถั่วเหลืองและพืชต่าง ๆ เป็นหลัก ถึงมีโอกาสการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ น้อยกว่าพวกเขาเหลือเกิน เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งเต้านม จึงมีการศึกษาลงลึกเข้าไปในอาหารเหล่านี้แล้วพบว่า สารสำคัญที่มีอยู่ในอาหารตะวันออกหลาย ๆ เมนูและไม่ค่อยพบในอาหารตะวันตกคือ สารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนนี้ สนับสนุนด้วยหลักฐานงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาพบว่า ผู้ที่มีการบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองและเต้าหู้เป็นประจำนั้น มีโอกาสการเกิดโรคมะเร็งน้อยกว่า โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมในผู้หญิง และยังพบอีกว่าผู้ที่บริโภคเต้าหู้เป็นประจำจะมีมวลกระดูกที่ดีกว่าผู้ที่บริโภคน้อย ไฟโตเอสโตรเจนจึงเริ่มได้รับความสนใจในแง่ของการเป็นอาหารที่ต้านโรคได้หลายโรคและป้องกันให้สุขภาพแข็งแรงได้ดีอีกด้วยครับ
ผู้หญิงกินดีแล้วผู้ชายกินได้ไหม ? จะมีผลอะไรบ้าง
แม้จะเห็นได้ว่าเต้าหู้เหมือนจะมีประโยชน์เชิงป้องกันโรคแค่กับผู้หญิง แต่มีงานวิจัยในช่วงไม่นานมานี้สนับสนุนว่า ถ้าผู้ชายได้รับสารไฟโตเอสโตรเจนจากอาหารเป็นประจำ ก็มีบทบาทต่อการป้องกันโรคได้เช่นกัน
- – รายงานแรกพบว่า ผู้สูงอายุทั้งสองเพศ หากได้รับไฟโตเอสโตรเจนจากอาหารเป็นประจำ จะมีมวลกล้ามเนื้อที่พัฒนาจากการออกกำลังกายได้ดีกว่า กลไกยังไม่แน่ชัดแต่สันนิษฐานว่ากระตุ้นผ่านหลายกลไก หรือ ช่วยลดระดับของฮอร์โมนความเครียดในร่างกายได้
- – มีรายงานว่า ไฟโตเอสโตรเจนมีบทบาทในการป้องกันภาวะต่อมลูกหมากโตในผู้ชายได้
- – มีการศึกษาพบว่า การบริโภคถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งมะเร็งชนิดนี้พบในเพศชายเป็นลำดับต้น ๆ เช่นกัน
นอกจากข้อดีที่ยกมาเล่าแล้ว ประเด็นเรื่องถั่วเหลืองกับฮอร์โมนล่ะ สรุปว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ? มีเรื่องที่เหมือนตลกเรื่องหนึ่งที่ผมจะมาเล่าให้ฟัง แต่จริง ๆ ก็อาจจะไม่ตลกก็ได้ ดังต่อไปนี้ครับ
“รายงานทางการแพทย์หนึ่งที่มีข้อมูลว่า มีผู้ชายคนหนึ่งไปพบแพทย์ด้วยอาการเต้านมโต และซักประวัติพบว่าดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำ” (โดย Martinez J. 2008)
อ่านจบแล้วก็สะดุ้งแน่นอน แต่เมื่อผมไปค้นข้อมูลมาจริง ๆ มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้ครับ
“เคสนี้เป็นเคสหายาก โดยผู้ชายอายุ 60 ปีท่านหนึ่ง ไปพบแพทย์ต่อมไร้ท่อเพื่อตรวจหาสาเหตุว่า ทำไมหน้าอกเขาใหญ่เหมือนผู้หญิง ตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิงก็พบว่ามีระดับสูงกว่าปกติของผู้ชายถึง 4 เท่า จึงซักประวัติก็พบว่าผู้ชายคนนี้ดื่มนมถั่วเหลืองในปริมาณวันละ 3 ควอทซ์ (เกือบ 3 ลิตร) ทุก ๆ วันเป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งจำไม่ได้ และเมื่อหลังจากพบสาเหตุนี้ เขาจึงหยุดดื่มและเต้านมก็ลดลงมาสู่ระดับปกติในที่สุด และสิ่งที่น่าสนใจคือ มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากการตรวจร่างกายพบว่า เต้านมโตขึ้นจริง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของขนาดอัณฑะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของมวลขนาดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่อย่างใด”
จากข้อมูลจริง ๆ ทั้งหมด ข้างต้นจึงเป็นเหตุผลสนับสนุนข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้มากมายดังนี้
- – การบริโภคถั่วเหลือง เต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองในปริมาณปกติที่กินกัน เช่น นมถั่วเหลืองวันละ 2 กล่อง กินผัดเต้าหู้ใส่เนื้อสัตว์บ้าง ไม่มีผลต่อร่างกายแน่ๆ เป็นแน่แท้และแน่นอน
- – การมีระดับไฟโตเอสโตรเจนในเลือดอันเนื่องมาจากการบริโภคถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่มีผลเสียต่อการสร้างกล้ามเนื้อ หรือลดความแข็งแรงแต่อย่างใด (ก็ลองดูซิว่า ขนาดดื่มวันละเกือบ 3 ลิตร กล้ามเนื้อของลุงยังไม่เป็นอะไรเลย)
- – บริบทของการบริโภคถั่วเหลืองจริง ๆ มักเป็นเต้าหู้ไม่ก็นมถั่วเหลือง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็บริโภคเป็นอาหารปกติ ไม่ได้มีการโหลดเข้าไปทีละมาก ๆ แต่อย่างใด ฉะนั้นการกินแบบปกติสามารถทำได้อย่างสบายใจ และยังอาจช่วยดูแลสุขภาพให้ดีกว่าการกินแต่เนื้อสัตว์อย่างเดียวอีกด้วยครับ
ฟันธงสุดท้าย กิน VS ไม่กิน
“กิน”
ถ้าสั้นไป ผมพูดต่ออีกหน่อยก็ได้ครับ ผมแนะนำให้รับประทานเต้าหู้โดยสามารถคำนวณเข้าไปในกลุ่มอาหารที่ให้โปรตีนได้ ไม่แตกต่างจากเนื้อสัตว์ โดยเต้าหู้ประมาณ ครึ่งก้อนสี่เหลี่ยมจะให้โปรตีนได้ 7 กรัม และมีไขมันประมาณ 3-5 กรัมครับ หรือถ้าดื่มเป็นนมถั่วเหลืองก็สามารถอ่านโปรตีนจากข้างกล่องได้เลย ที่สำคัญที่สุด การผนวกรวมเอาอาหารหลาย ๆ ประเภทมารับประทาน จะเป็นการกระจายทั้งความเสี่ยงในการกินอาหารซ้ำ ๆ และเพิ่มความหลากหลายของสารอาหารที่บริโภคในแต่ละวัน ซึ่งจะเป็นการป้องกันการขาดสารอาหารที่ดีกว่าการกินอะไรซ้ำ ๆ แน่นอนครับ
อ้างอิง
- Fu, Song-wen et al. Systematic review and meta-analysis of the bone protective effect of phytoestrogens on osteoporosis in ovariectomized rats. Nutrition Research , Volume 34 , Issue 6 , 467 – 477
- Food, Nutrition, Physical Activity, and the Prevention of Cancer: a Global Perspective and the 2011 Continuous Update Project (CUP): Colorectal Cancer. *including supplements
- Martinez J1, Lewi JE. An unusual case of gynecomastia associated with soy product consumption. Endocr Pract. 2008 May-Jun;14(4):415-8.
- Patisaul HB, Jefferson W. The pros and cons of phytoestrogens. Frontiers in neuroendocrinology. 2010;31(4):400-419. doi:10.1016/j.yfrne.2010.03.003.