ปวด VS บาดเจ็บ ต่างกันยังไง

129_hurt_p

เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยประสบกับอาการ “ปวด” จากการเล่นเวท หรือออกกำลังกาย ซึ่งหลายๆคนอาจคิดว่าอาการปวดดังกล่าวนั้นเป็นสัญญาณที่ “ดี” ดังวลีฮิตติดปากที่ว่า “No Pain No Gain” แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการปวดนั้นอาจไม่ได้แสดงถึงสัญญาณที่ดีเสมอไป แต่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่ามีการบาดเจ็บบางอย่างเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือส่วนอื่นๆของร่างกาย ดังนั้นจุดประสงค์ของบทความนี้มีขึ้นเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับลักษณะอาการปวดว่าอาการปวดแบบใดที่ถือเป็นสัญญาณดี หรือแบบใดที่บ่งบอกถึงการบาดเจ็บและสมควรที่จะพักหรือหยุดออกกำลังกายเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ

อาการปวดล้า หรือปวดระบม(Soreness)สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ อาการปวดล้าแบบเฉียบพลันหรือชั่วคราว (acute soreness or temporary soreness) ซึ่งอาการปวดล้าในลักษณะนี้จะเกิดขึ้น “ขณะ” หรือ “หลัง” ออกกำลังกายหรือเล่นเวททันที ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการฉีกเล็กๆของเส้นใยกล้ามเนื้อ (muscle fibers) ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายได้เองเมื่อหยุดออกกำลังกายหรือพัก ส่วนแบบที่สอง เรียกว่า Delayed Onset Muscle Soreness หรือเรียกสั้นๆว่า “DOMS” ลักษณะอาการปวดคือปวดระบม โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากออกกำลังกายหรือเล่นเวท ประมาณ 24 – 72 ชม. ซึ่งถือว่าเป็นความเสียหายของกล้ามเนื้อในระดับปลอดภัยเนื่องจากยังเป็นการฉีกในระดับเส้นใยกล้ามเนื้ออยู่ นอกจากนี้ยังมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อถูกสัมผัส ยืด หรือเมื่อมีการทำงานของกล้ามเนื้อที่มีอาการ

2. อาการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บ (Pain from Injuries)อาการดังกล่าวนี้จะมีลักษณะการปวดแบบแปล๊บๆ หรือจี๊ดๆ ที่บริเวณกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งขณะ และหลังออกกำลังกาย ซึ่งอาการปวดลักษณะนี้จะมีอาการเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของส่วนที่บาดเจ็บ และในบางครั้งจะไม่หายไปถึงแม้ในระหว่างพัก นอกจากนี้อาจมีอาการบวม แดงและร้อนร่วมด้วย

 

การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการต่างๆ

สำหรับการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการปวดล้า หรือปวดระบมนั้นสามารถบรรเทาอาการด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานผ่อนคลายซึ่งจะทำให้อาการปวดดังกล่าวลดลงได้ แต่สำหรับการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บในช่วงแรก (3-5 วันแรก) ควรหยุดพักการใช้งานกล้ามเนื้อหรือข้อต่อที่บาดเจ็บเนื่องจากการใช้งานกล้ามเนื้อหรือข้อต่อที่บาดเจ็บอาจทำให้อาการเจ็บปวดและอักเสบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายถึงส่วนนั้นๆได้รับความเสียหายมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงแรกของการบาดเจ็บสามารถใช้การประคบน้ำแข็งประมาณ 5-10 นาทีเพื่อลดอาการปวด บวมและอักเสบ เนื่องจากความเย็นสามารถลดอาการปวด บวมและอักเสบได้ หากอาการปวดไม่ทุเลาลงในระยะเวลามากกว่า 5-7 วัน ควรพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจประเมินและวางแผนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

สำหรับบทความในครั้งต่อๆไปจะเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บต่างๆทางกายภาพที่สามารถพบได้จากการออกกำลังกายหรือในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงแนะนำเทคนิคการยืดกล้ามเนื้อที่มีประสิทธิภาพ ฝากติดตามอ่านกันด้วยนะครับ

(Visited 1,961 times, 1 visits today)

Last modified: May 9, 2019