ไซบูทรามีน (Sibutramine)
ไซบูทรามีนทำให้ลดน้ำหนักได้โดยตัวสารนี้จะไปส่งผลต่อสารสื่อประสาททำให้รู้สึกอยากอาหารน้อยลง ซึ่งการที่ทำให้รู้สึกอยากอาหารน้อยลงนี้ทำให้รับพลังงานจากการทานอาหารลดลงไปด้วย ซึ่งเมื่อได้รับพลังงานจากอาหารน้อยกว่าที่ร่างกายต้องใช้ก็จะทำให้ร่างกายดึงพลังงานสะสมในร่างกายอย่างเช่น ไขมัน มาใช้เป็นพลังงานชดเชย
อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเช่น ปวดหัว, นอนไม่หลับ, ปากแห้ง, อาการซึมเศร้า
เฟนเทอร์มีน (Phentermine)
มีฤทธ์ส่งผลต่อระดับสารสื่อประสาทเช่นกัน ทำให้รู้สึกอิ่ม อยากอาหารน้อยลง และเหมือนเดิมคือเมื่อมีการรับพลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายต้องใช้ก็จะทำให้ร่างกายดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานสำรอง
ยาที่เกี่ยวข้องกับระบบธัยรอยด์
ฮอร์โมนจากธัยรอยด์มีผลต่อการควบคุมระดับการเผาผลาญในร่างกาย จากการศึกษาพบว่าหลังจากพยายามลดน้ำหนักไประยะนึงแล้วระดับฮอร์โมนธัยรอยด์นั้นมีระดับลดลง ซึ่งการลดลงนี้ส่งผลให้ระดับการเผาผลาญลดลง (Cal out ลดลง) ทำให้เกิดการนำยาที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนนี้มาใช้อย่างผิดๆ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในภายหลัง
อ่านบทความผลของการลดน้ำหนักที่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนต่างๆ (http://goo.gl/KeXYdr)
เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol)
หรือเรียกอีกชื่อนึงว่า “สารเร่งเนื้อแดง” ที่เคยพบว่ามีการใช้ในเนื้อสัตว์เพื่อให้มีไขมันน้อยๆ โดยสารตัวนี้จะเพิ่มระดับการเผาผลาญและเพิ่มอัตราการนำไขมันมาใช้เป็นพลังงาน ผลข้างเคียงคือหัวใจเต้นเร็ว, ใจสั่น, ปวดหัว, อาการสั่น, กล้ามเนื้อเป็นตะคริวได้ง่าย
ทาง P4F ไม่แนะนำให้ใช้สารเหล่านี้ในการลดน้ำหนักและไขมัน
หลักการลดน้ำหนักและไขมันคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดย
- การควบคุมพลังงานที่ได้รับ (cal in) ให้น้อยกว่าพลังงานที่ใช้ (cal out)
- การเพิ่มการใช้พลังงานในแต่ละวันโดยการออกกำลังกาย (cal out) ให้มากกว่าที่ได้รับ (cal in)
ซึ่งเน้นย้ำว่าต้องทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การที่จะหวังลดน้ำหนักและไขมันโดยการใช้ยาดังกล่าวนั้นแม้จะทำให้เกิดภาวะ Cal in < Cal out ได้ก็ตาม แต่ว่าต้นตอของปัญหาจริงๆ ที่ทำให้อ้วนนั้นไม่ได้ถูกแก้ไข
พฤติกรรมเดิมๆ ที่เคยทำในขณะที่มีน้ำหนักเกิน, ไขมันเกิน นั้นคือสาเหตุที่ทำให้เกิดไขมันสะสม การที่หวังใช้ฤทธิ์ยาเพื่อช่วยลดน้ำหนัก หากเลิกใช้ไปแล้วแต่ยังมีพฤติกรรมการกินแบบเดิม, ไม่ออกกำลังกายเหมือนเดิมก็จะกลับมาอ้วนอีกครั้ง หากต้องใช้ยาตลอดไปก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและผลข้างเคียงของยา ซึ่งบางครั้งพบว่าเราได้รับผลข้างเคียงที่มากกว่าผลที่ได้จากการลดน้ำหนักด้วยซ้ำไป
เป้าหมายของการลดน้ำหนักจริงๆ คือการรักษารูปร่างและน้ำหนักที่ต้องการไว้ได้ หากเราเป็นคนที่ใช้ชีวิตตามปกติก็คงอยากมีรูปร่างที่ดีตลอดเวลา การที่เราเร่งรีบลดน้ำหนักโดยใช้ยากดไว้นั้น หากเลิกใช้ก็จะกลับมาอ้วนอีก (เนื่องจากต้นตอของปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข) บางคนอาจจะมองว่าจะขอใช้เพื่อให้ลดให้ได้ก่อนแล้วค่อยกลับมาเริ่มต้นคุมอาหารและออกกำลังกายนั้นก็ดูอันตรายเพราะการใช้ยาพวกนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการไขมันเด้งกลับมาอย่างรวดเร็ว (โยโย่เอฟเฟค) เมื่อถึงตอนนั้นจะพยายามคุมอาหารและออกกำลังกายก็อาจจะพบว่าน้ำหนักและไขมันนั้นเพิ่มกลับมาอยู่ดี
ดังนั้นทาง P4F ขอเน้นย้ำว่าให้พยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด แก้ตรงที่ต้นตอของปัญหา จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและไม่เสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาลดน้ำหนักที่ใช้กันอย่างผิดๆ
อ้างอิง
- Poston WS, Foreyt JP. Sibutramine and the management of obesity. Expert Opin Pharmacother. 2004;5(3):633-42.
- Rankin W, Wittert G. Antiobesity drugs. Curr Opin Lipidol. 2015.
- Yang YT, McElligott MA. Multiple actions of beta-adrenergic agonists on skeletal muscle and adipose tissue. Biochem J. 1989;261(1):1-10.