1.กล้าม – ไขมัน เปลี่ยนไปแทนกันไม่ได้
เป็นความเข้าใจผิดที่พูดติดปากต่อๆกันมานานจนบางครั้งทำให้ผู้ฝึกใหม่นั้นไขว้เขว และคิดว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะเรื่องของ “อยากกล้ามใหญ่ต้องกินให้อ้วนแล้วเปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อ” หรือ “หยุดเล่นเวทแล้วกล้ามเนื้อจะเปลี่ยนเป็นไขมันทำให้อ้วน” และในกรณีอื่นๆเช่น อยากกระชับสัดส่วนให้เวทจนไขมันเปลี่ยนเป็นกล้ามเนื้อ และอีกมากมาย ก่อนอื่นหากเราพิจารณาถึงโครงสร้างระหว่าง ไขมัน และ กล้ามเนื้อ นั้นเราจะพบว่าไขมันในร่างกายเกิดจากการที่ร่างกายเปลี่ยนพลังงานส่วนเกินที่เหลือใช้ในร่างกายมาอยู่ในรูปของไขมันสะสมในร่างกาย ส่วนกล้ามเนื้อนั้นต้องถูก “สังเคราะห์” ขึ้นจากกรดอะมิโนซึ่งได้มาจากโปรตีนในอาหาร ฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายผลิตขึ้น เพื่อสังเคราะห์เป็นกล้ามเนื้อ หรือเรียกว่า “กระบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย” นั่นเอง เราจะพบว่าในเชิงลึกนั้นทั้งสองกระบวนการนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและโครงสร้างของไขมันและกล้ามเนื้อนั้นเองไม่สามารถเปลี่ยนแทนกันได้ ข้อเท็จจริงคือเราสามารถเพิ่มกล้ามเนื้อ ลดกล้ามเนื้อ เพิ่มไขมัน หรือ ลดไขมันแยกกันโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแทนกันนั่นเอง
2.เล่นเวทอย่างเดียวไม่พอ
เป็นแนวคิดที่สืบกันมารุ่นต่อรุ่น ถ้าเราพูดถึงคำว่า “สร้างกล้ามเนื้อ” เราก็จะคิดถึงการ “เวท” เป็นสิ่งแรก แต่ข้อเท็จจริงกลับชี้ให้เห็นว่าการเวทหรือการฝึกด้วยน้ำหนักนั้นเป็นเพียงการ “กระตุ้น” หรือการ “ส่งสัญญาณ” ให้ร่างกายนั้นเกิดกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มในมัดกล้ามเนื้อที่ถูกฝึกนั้นๆโดยใช้พลังงาน สารอาหารต่างๆ โปรตีน ฮอร์โมนในร่างกายเป็นตัวดำเนินการ ปราศจากสารอาหารที่เหมาะสมนั้นร่างกายนั้นสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มได้ยากเนื่องจาก “แหล่งวัตถุดิบ” ในการสร้างกล้ามเนื้อไม่พอ เช่นกันในมุมกลับหากปราศจากการ “ส่งสัญญาณ” ที่ถูกต้องร่างกายก็ไม่สามารถนำแหล่งวัตถุดิบที่มีไปใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อที่ถูกต้องได้
และจากมุมมองนี้การเวทเทรนนิ่งนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างกล้ามเนื้อที่มีแนวคิดดังนี้
ส่งสัญญาณจากฝึก – ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ – สังเคราะห์โปรตีนเพิ่มพัฒนาต่อยอดจากภาวะปกติ
ซึ่งการสังเคราะห์โปรตีนนั้นต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้นการเล่นเวททุกวันก็เสมือนกับการส่งสัญญาณซ้ำๆซ้อนๆโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ร่างกายนั้น “ซ่อมแซม และ เสริมสร้าง” ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากการเวทมัดเดิมซ้ำๆนั้นไปตัดกระบวนการสังเคราะห์กล้ามเนื้อให้ไปเริ่มต้นใหม่ก็คือช่วงส่งสัญญาณ-ฟื้นตัว-ส่งสัญญาณ-ฟื้นตัว โดยไม่สามารถไปถึงช่วง “พัฒนา” ได้ จึงเป็นที่มาของการจัดโปรแกรมซ้อมที่เหมาะสมโดยปล่อยให้กล้ามเนื้อนั้นๆได้พักอย่างเพียงพอนั่นเอง กอปรกับการจัดโปรแกรมโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายมี “แหล่งวัตถุดิบ” ที่เพียงพอในการนำไปใช้เสริมสร้างร่างกาย
3.ยกเบานายแบบ ยกหนักเพาะกาย
คงจะเคยได้ยินมาบ้างกับคำว่า เล่นกล้ามนายแบบ หรือ เล่นเพาะกายแบบนักกล้าม ในความเป็นจริงแล้วทั้งสองแบบนี้นั้นมีพื้นฐานการฝึก และ โภชนาการใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะการฝึก
กล้ามเนื้อรับสัญญาณจากร่างกายเพียงว่าต้อง “เพิ่มกล้ามเนื้อ” “รักษาสภาพกล้ามเนื้อ” หรือ “ลดปริมาณกล้ามเนื้อ” ร่างกายไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเรายกเวทน้ำหนักเท่าไร ท่าฝึกไหน กี่เซตกี่ครั้ง ดังนั้นความเชื่อที่เคยได้ยินมาว่า “ผมไม่เล่นหนักๆเพราะไม่ได้อยากได้กล้ามแบบนักเพาะกาย อยากได้แค่แบบนายแบบพอ” จึงปราศจากเหตุผลและความเป็นจริง จะเพาะกาย หรือ นายแบบ ถ้าต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อก็ต้องฝึกให้หนักพอที่ร่างกายจะกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อเหมือนๆกัน ไม่ได้หมายความว่า ”ยกหนักกล้ามขึ้นใหญ่” “ยกเบากล้ามขึ้นแต่เล็กกว่า”
4.เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตัวเองได้ แต่สามารถพัฒนาให้ออกมาดูดีในแบบของเราเองได้
ในครั้งนึงเราอาจจะเคยคิดว่าเราฝึกตามโปรแกรมฝึกของใครสักคน เราจะได้รูปร่างในแบบที่เค้ามี หรือ ความเชื่อว่าท่าฝึกบางท่านั้นทำให้เราสามารถมีมัดกล้ามเนื้อที่เป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ ข้อเท็จจริงคือ โครงสร้างร่างกายแต่ละคน จุดยึดต่างๆของกล้ามเนื้อ การเรียงตัวของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ รูปลักษณ์ของกล้ามเนื้อนั้นถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและ “ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” แต่สิ่งที่ทำได้คือ การพัฒนารูปร่างโดยการสร้างกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆของร่างกายให้เหมาะสมกับโครงสร้างของเราเอง เช่นผู้ที่มีลำตัวตรงและยาวนั้นสามารถใช้การเพิ่มกล้ามเนื้อปีกเพื่อให้ร่างกายดูเป็น Y-shape เพื่อให้มีมิติมากขึ้น หรือคนที่ตัวแคบช่วงไหล่แคบนั้นสามารถพัฒนากล้ามเนื้อหัวไหล่ด้านข้างเพื่อให้ลำตัวกว้างขึ้นได้
ดังนั้นการคำนึงถึงการจัดโปรแกรมฝึกต่างๆ เพื่อพัฒนารูปร่างของผู้ฝึกเองให้ออกมาดูดีที่สุด โดยมองข้ามรูปร่างในอุดมคิตของนักเพาะกายที่ชอบไป แล้วพัฒนาให้เหมาะสมในโครงสร้างของแต่ละบุคคลเองเป็นหลัก