อาหารกรด-ด่าง กับการสร้างกล้ามเนื้อ

Nutrition, Tips and Technique

233_food_p

หลายคนอาจจะเคยได้ยินการสไตล์การกินอาหารเพื่อปรับสมดุลกรดด่างกันมาบ้าง โดยแนวคิดนี้เชื่อกันว่าประเภทของอาหารที่เรากินนั้นจะกระทบต่อระดับภาวะความเป็นกรดด่างภายในเลือด และเชื่อกันการที่เลือดเป็นกรดจะทำให้เกิดการสะสมไขมัน, ร่างกายฟื้นตัวช้า, เซลล์ถูกทำลาย, เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และภาวะที่เป็นกรดนั้นจะทำให้เกิดการละลายกระดูกทำให้กระดูกพรุน ทำให้เกิดแนวคิดว่าว่าควรที่จะทำให้เลือดของเรานั้นมีค่าความเป็นด่างถึงจะดีต่อร่างกาย

 

โดยเค้าจัดกันว่าอาหารที่ทำให้เลือดเป็นกรดได้แก่พวก เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม, น้ำตาล

และอาหารที่ช่วยทำให้เลือดเป็นด่างได้แก่พวก ผักและผลไม้

 

ซึ่งพบว่าในกลุ่มรักสุขภาพและออกกำลังกายลดน้ำหนักก็พยายามปรับอาหารให้มีความเป็นด่างมากขึ้น (อาหารอัลคาไลน์) เพื่อที่ว่าจะช่วยในการลดน้ำหนัก, ส่งผลดีต่อพัฒนาการของกล้ามเนื้อ และส่งผลดีต่อสุขภาพ ในบทความนี้จะมาลองทำความเข้าใจเรื่องภาวะกรดด่างภายในร่างกายกันว่าอาหารนั้นจะส่งผลต่อสมดุลกรดด่างหรือไม่

 

ข้อเท็จจริง: ค่าความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารนั้นสูงมาก

ระดับ pH ของน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีค่าอยู่ในช่วง 1.5-3.5 ในสภาพนั้นถือว่ามีความเป็นกรดสูงมาก การกินอาหารที่มีความเป็นด่าง (อาหารอัลคาไลน์) ก็คงไม่ช่วยอะไรได้มาก

 

การที่ในกระเพาะต้องมีความเป็นกรดสูงนั้นก็เพื่อที่จะช่วยย่อยอาหารจำพวกโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยเฉพาะคนที่เล่นเวทเทรนนิ่งนั้นก็สำคัญต่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และคนที่ไดเอทลดไขมันนั้นก็สำคัญในแง่ของการรักษามวลกล้ามเนื้อ

ถ้าสมมติว่าการกินอาหารพวกอัลคาไลน์ได้ผลจริงๆ ละก็ จะทำให้กระบวนการนี้ถูกขัดขวาง ซึ่งฟังแล้วก็ไม่น่าเป็นผลดีเท่าไร

 

ข้อเท็จจริง: ค่าความเป็นกรดด่างของภาวะในลำไส้นั้นมีความเป็นด่างอยู่แล้ว

หลังจากอาหารผ่านจากกระเพาะอาหารมาก็จะมาอยู่ในลำไส้ ซึ่งภายในนี้ก็จะมีการปรับ pH ให้เหมาะสมกับการย่อยอาหารในบริเวณนี้ ซึ่งในบริเวณนี้มี pH อยู่ราวๆ 7.4 ซึ่งถือว่ามีความเป็นด่างอยู่แล้ว

 

สรุปคือ ในระบบการย่อยอาหารของมนุษย์มีการปรับ pH แต่ละช่วงให้เหมาะสมอยู่แล้วโดยไม่ขึ้นกับชนิดของอาหารว่าจะเป็นพวกที่เป็นกรดหรือด่างอย่างละเท่าไร ซึ่งขนาดการเสริมโซเดียมไบคาร์บอเนตที่มีความเป็นด่างในปริมาณ 0.3 g/ นน ตัว 1 kg (ถ้าหนัก 50 kg ก็ต้องกินโซเดียมไบคาร์บอเนต 15 g) เข้าไปยังทำให้ระดับ pH ในเลือดเปลี่ยนแปลงแค่เล็กน้อย (pH เพิ่มขึ้นราว 0.08 เท่านั้น)

 

ข้อเท็จจริง: ค่าความเป็นกรดด่างในเลือดถูกควบคุมด้วยการขับออกทางลมหายใจและปัสสาวะ

ร่างกายมีระบบการรักษาสมดุลกรดด่างอยู่แล้ว ถ้าเลือดมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นก็จะขับออกทางลมหายใจในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถ้าความเป็นด่างเพิ่มมากขึ้นก็จะหายใจช้าลง

 

สำหรับไตนั้น ถ้าเลือดมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นก็จะขับกรดส่วนเกินออก แต่ถ้าความเป็นด่างเพิ่มมากขึ้นก็จะขับด่างส่วนเกินออกไปกับปัสสาวะ

 

ข้อเท็จจริง: ยังไม่พบว่ามีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าอาหารที่เป็นกรดทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน

โดยเฉพาะในส่วนที่เชื่อกันว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดกรดมาก ซึ่งภาวะกรดนี้จะทำให้เกิดการดึงแคลเซียมจากกระดูก แต่มีการคัดค้านงานวิจัยตรงนี้เนื่องจากว่างานวิจัยนี้ได้ทำในผู้ที่มีปัญหาเรื่องไตอยู่แล้ว (ซึ่งไตเป็นส่วนสำคัญในการรักษาสมดุลกรดด่าง) ซึ่งพบว่าการกินโปรตีนเยอะๆ ในคนที่มีสุขภาพดีนั้นไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องมวลกระดูก

 

อ่านเพิ่มเติม: กินโปรตีนมากๆ อันตรายหรือไม่ http://goo.gl/ut25pf

 

ข้อเท็จจริง: ผักและผลไม้เป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่ควรกินอยู่แล้ว

ผักและผลไม้มีสารที่มีประโยชน์ ก็ควรกินเพื่อรับประโยชน์จากตรงนั้น ไม่ใช่ว่ากินเพราะจะเอาไปปรับให้ร่างกายเป็นด่างมากขึ้น เพราะเหตุผลที่กล่าวข้างต้นมานั้นพบว่าผลของอาหารนั้นนับว่าค่อนข้างน้อย

 

สรุป

1.ร่างกายมีการปรับ pH ของอาหารในระหว่างการย่อยในระบบทางเดินอาหารอยู่แล้ว โดยปรับเป็นกรดเมื่ออยู่ในกระเพาะอาหาร และปรับเป็นด่างมากขึ้นเมื่ออยู่ในลำไส้ที่มีการย่อยและดูดซึม

2.การทดลองกินโซเดียมไบคาร์บอเนตในหลัก 3 g/ นน ตัว 1 kg ทำให้ค่า pH เปลี่ยนแค่เล็กน้อยเท่านั้น ปริมาณในการกินนี้ค่อนข้างมากแต่กลับส่งผลต่อค่า pH เพียงเล็กน้อย

3.ร่างกายมีระบบในการรักษาสมดุลกรดด่างโดยระบบหายใจและขับถ่ายปัสสาวะอยู่แล้ว

4.ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าการกินอาหารในแนวทางของอัลคาไลน์จะทำให้ส่งผลดีต่อสุขภาพ

5.ผักและผลไม้ (ที่เชื่อกันว่าเป็นอาหารอัลคาไลน์) มีสารที่มีประโยชน์อยู่แล้ว เป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่ร่างกายควรได้รับ แต่รับเพื่อผลประโยชน์ตรงนั้น ไม่ใช่รับเพราะจะไปปรับให้ร่างกายเป็นด่างมากขึ้น

 

อ้างอิง

  1. Bonjour JP. Nutritional disturbance in acid-base balance and osteoporosis: a hypothesis that disregards the essential homeostatic role of the kidney. Br J Nutr. 2013;110(7):1168-77.

 

  1. Carr AJ, Slater GJ, Gore CJ, Dawson B, Burke LM. Effect of sodium bicarbonate on [HCO3-], pH, and gastrointestinal symptoms. Int J Sport Nutr Exerc Metab. 2011;21(3):189-94.

 

Metabolic2

PT_1hrr

 

 

(Visited 3,498 times, 1 visits today)

Last modified: May 10, 2019