ก่อนอื่นต้องขออนุญาตบอกก่อนนะครับว่า ในฐานะของนักกำหนดอาหาร ไม่ได้สนับสนุนการดื่มเหล้าแต่อย่างใด แต่ที่วันนี้มาเล่าให้ฟังเรื่องเหล้า ก็เพื่อให้มีความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อให้สามารถดูแลร่างกายได้เหมาะสม หากอยู่ในสถานการณ์ที่มีการดื่มเหล้า (และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ ) และเราจำเป็นต้องดื่ม (ด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่) ครับ
แอลกอฮอล์เป็นสารเคมีอย่างหนึ่งครับ 1 กรัมของแอลกอฮอล์ให้พลังงานประมาณ 7 กิโลแคลอรี (ซึ่งมากกว่าคาร์โบไฮเดรต แต่น้อยกว่าไขมัน) ความน่าสนใจคือแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว (นับเป็นนาทีได้เลยครับ) หลังจากที่เข้าสู่กระแสเลือด มันก็จะถูกส่งต่อไปยังตับ สมอง และอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายครับ แต่อย่างไรก็ตาม ความเร็วของการดูดซึม (ซึ่งส่งผลต่อการพุ่งขึ้นของระดับแอลกอฮอล์ในเลือด) จะขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นได้บริโภคอาหารร่วมกับแอลกอฮอล์หรือไม่ครับ หากดื่มแอลกอฮอล์เพียว ๆ ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วมากผ่านลำไส้เล็ก แต่หากมีอาหารร่วมด้วย การเคลื่อนที่ของแอลกอฮอล์จากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้เล็กก็จะช้าลง ทำให้เกิดการดูดซึมที่ช้าลงไปด้วยครับ นั่นทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มช้าลง คนที่ชอบบริโภคอาหารไปด้วยร่วมกับการดื่มเหล้า จึงมักจะมีอาการเมาช้ากว่าคนที่นิยมดื่มแบบเพียว ๆ ครับ (ผสมน้ำหรือโซดาก็ให้ผลไม่แตกต่างจากการดื่มเหล้าเปล่า ๆ นะครับ)
แอลกอฮอล์จะคงอยู่ในร่างกายจนกว่าจะถูกย่อยสลายกลายเป็นพลังงาน หรือถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นไขมันหรือสารประกอบอื่น ๆ ครับ กระบวนการในการสลายแอลกอฮอล์นั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป และขนาด รูปร่าง และองค์ประกอบของร่างกายของแต่ละบุคคลครับ จะสังเกตว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มได้เร็วมาก (หลักนาที) แต่ขจัดได้ช้ามาก (หลายชั่วโมง) ครับ รวมถึงว่าแต่ละคนจะมีอัตราเร็วในการขจัดแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานของตับครับ การขจัดแอลกอฮอล์ในตับทำได้โดยการใช้เอนไซม์เปลี่ยนแปลงแอลกอฮอล์ให้เป็นสารประกอบอื่น ๆ ที่สลายเป็นพลังงานได้ หรือเปลี่ยนแปลงเป็นไขมัน หรือสารประกอบอื่น ๆ เราจึงพบว่าคนที่นิยมดื่มแอลกอฮอล์จึงมีโอกาสที่จะน้ำหนักเพิ่มได้ (เพราะได้พลังงานส่วนเกินจากแอลกอฮอล์ปริมาณมากนั่นเองครับ)
สำหรับคนที่อัตราการขจัดแอลกอฮอล์ช้า จะสังเกตได้จากการที่เริ่มมีอาการอย่างเช่น คลื่นไส้ (แล้วตามมาด้วยอาเจียน) หัวใจเต้นแรงและเร็ว และมีอาการหน้าแดง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากการที่มีแอลกอฮอล์อยู่ในกระแสเลือดในปริมาณมากครับ ร่างกายจะขจัดแอลกอฮอล์ได้ประมาณ 90% ส่วนอีก 10% จะออกมากับเหงื่อ ปัสสาวะ และลมหายใจครับ นั่นทำให้เราได้กลิ่นของแอลกอฮอล์จากคนที่ดื่มเหล้าได้นั่นเองครับ
จากทั้งหมดที่เล่ามา คงพอให้เห็นภาพคร่าว ๆ เกี่ยวกับกลไกของร่างกายในเรื่องที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์แล้วใช่มั้ยครับ สรุปสุดท้ายก็ต้องบอกว่า หากปกติเป็นคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็คงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะเริ่มดื่มครับ แต่หากเป็นคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งที่ดีที่สุดคือจำกัดปริมาณการดื่มครับ โดยปกติแล้วในเพศชายไม่ควรเกิน 2 แก้ว เพศหญิงไม่ควรเกิน 1 แก้วต่อวัน และไม่ใช่ทุกวันต่อสัปดาห์ครับ ในหลาย ๆ ครั้งเราก็สามารถสนุกได้โดยที่ไม่ต้องมีเหล้านะครับ ดังคำที่โกวเล้งได้บอกว่า “ข้ามิได้พึงใจในรสชาดสุรา แต่ข้าพึงใจในบรรยากาศของการร่ำสุรา” ครับ
อ้างอิง
Levitt MD, et al. Use of measurements of ethanol absorption from stomach and intestine to assess human ethanol metabolism. Am J Physiol Gastrointestinal Liver Physiol. 1997; 273(4): G951–G957.
Baik I, et al. Genome-wide association studies identify genetic loci related to alcohol consumption in Korean men. Am J Clin Nutr. 2011; 93: 809–16.
Morey TE, et al. Measurement of ethanol in gaseous breath using a miniature gas chromatograph. J Anal Toxicol. 2011; 35: 134–42.